วันศุกร์ที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2556

กรณีความขัดแย้งจุฬา-อุเทน 2




อุเทนชุมนุมยื่นเอกสารประวัติศาสตร์ให้จุฬาฯ
วันที่ 15 มีนาคม 2556 ศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบันอุเทนถวายต่างตบเท้ามารวมพลภายในอุเทนถวาย เพื่อแสดงพลังทวงคืนที่ดินจากจุฬาฯ
เวลา 11.00 น.กลุ่มศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบัน ประมาณ 50 คน เดินทางมาชุมนุมที่หน้ากระทรวงศึกษาธิการ เพื่อยื่นหนังสือขอให้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่อุเทนถวายและขอให้ตั้งอยู่ที่เดิม
เวลา 11.30 น. นักศึกษาอุเทนถวายได้ชี้แจงเส้นทางเดินขบวนให้เจ้าหน้าที่รับทราบเพื่อขอให้อำนวยความสะดวก โดยยืนยันไม่สร้างความเดือดร้อนต่อประชาชน และจะใช้พื้นที่เกาะกลางหน้าสำนักงานทรัพย์สินจุฬาฯ ขณะเดียวกันจะยื่นหนังสือเปิดผนึกถึงจุฬาฯด้วย
เวลา 12.30 น. ที่อาคารจามจุรี 3 ศ.น.พ.ภิรมย์ พร้อมคณะผู้บริหาร เปิดแถลงข่าวโดยระบุว่า แนวทางในการแก้ปัญหา ต้องมีการเจรจาร่วมกันทั้ง 3 ฝ่าย คือ ศธ. จุฬาฯ และอุเทนถวาย โดยเชื่อว่าหากอุเทนถวายมีที่ใหม่ที่ดีกว่าเดิม และใกล้กับภาคอุตสาหกรรมน่าจะยินดีขยับขยาย
เวลา 13.00 น.ศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบันกว่า 2,000 คน จึงเดินขบวนโดยใช้พื้นที่บริเวณถนนพญาไทขาเข้า ฝั่งด้านหน้าจุฬาฯ มายังบริเวณหน้าสำนักงานอธิการบดี และอาคารสำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาฯ พร้อมใช้รถบรรทุกติดตั้งเครื่องกระจายเสียงปราศรัย จากนั้นตัวแทนศิษย์เก่าและนายลิขิต จิตประวัติ นักศึกษาชั้นปี 2 คณะวิศวกรรมศาสตร์ ในฐานะนายกสโมสรนักศึกษาอุเทนถวาย ตัวแทนศิษย์ปัจจุบัน เข้ายื่นหนังสือเรียกร้องขอความเป็นธรรมในกรรมสิทธิ์ที่ดินของอุเทนถวาย โดยมี น.พ.เจษฎา แสงสุพรรณ รองอธิการบดีฝ่ายบริหารจุฬาฯ เป็นตัวแทนรับหนังสือ
เวลา 14.40 น. กลุ่มศิษย์เก่าฯได้ประกาศยุติการชุมนุมและได้ขอให้ผู้บริหารจุฬาฯ พิจารณาข้อเรียกร้องที่อุเทนถวายนำมาเสนอ หากยังไม่มีความเปลี่ยนแปลง ครั้งต่อไปอุเทนถวายก็จะยกระดับการชุมนุม เพื่อยืนยันในข้อเรียกร้องเดิมต่อไป

วันที่ 26 มีนาคม 2556 จุฬาฯ ได้จัดงานเสวนาเนื่องในวันสถาปนามหาวิทยาลัย ครบรอบ 96 ปี เรื่อง "จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยใต้ร่มพระราชปณิธานพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว" ซึ่งการเสวนาในครั้งนี้ถึงอธิการบดีจุฬาฯ จะยืนยันว่า ไม่ได้มีเป้าหมายจะนำเรื่องประวัติศาสตร์มาเป็นข้อโต้แย้งกรณีการถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดินกับอุเทนถวาย นายสุเนตร ชุตินธรานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ กล่าวตอนหนึ่งในงานเสวนาว่า ร.6 ได้พระราชทานพื้นที่ในเขต ต.ปทุมวัน ให้แก่จุฬาฯ โดยมีพระราชประสงค์ให้มหาวิทยาลัยได้ใช้พื้นที่เป็นการถาวร โดยมีหลักฐานปรากฎในจารึกกระแสพระบรมราชโองการที่บรรจุไว้ในศิลาพระฤกษ์ตึกบัญชาการ พร้อมด้วยรูปถ่ายโรงเรียนและแผนที่อาณาเขตโรงเรียน ลงวันที่ 3 มกราคม 2458 ต่อมาในสมัย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้อรรถาธิบายว่า พระประสงค์ในการพระราชทานที่ดินอันกว้างขวางแก่จุฬาฯนั้น ทรงเล็งเห็นว่า ต่อไปที่ดินจะมีความเจริญในทางการค้า จึงพระราชทานไว้แก่มหาวิทยาลัยเพื่อหาประโยชน์ เป็นรายได้แก่มหาวิทยาลัย ด้วยเหตุนี้จึงเห็นว่าการที่จุฬาฯ ใช้ที่ดินที่ได้รับพระราชทานไว้ในการหารายได้ ด้วยการสร้างศูนย์การค้าหรืออาคารพาณิชย์ ไม่ทิ้งไว้ให้อยู่เปล่านั้น เป็นการปฏิบัติตามพระราชดำริและตรงตามพระราชประสงค์อยู่แล้ว
วันที่ 13 มิถุนายน 2556 อุเทนถวายจึงเปิดแถลงหลักฐานข้อมูลโต้จุฬาฯ ภายใต้ชื่อ “ทวงกรรมสิทธิ์ที่ดินพระราชทาน” พร้อมชู 4 ประเด็นหลักเน้นแก้ข้อกล่าวหา โดยกลุ่มศิษย์เก่า ศิษย์ปัจจุบัน และสโมสรนักศึกษาอุเทนถวาย ได้ตั้งกลุ่มที่ใช้ชื่อว่า “คณะพิทักษ์สิทธิ์เพื่อการศึกษาอุเทนถวาย (คพศ.)” เพื่อทำหน้าที่สืบเสาะแสวงหาข้อมูลหลักฐานที่เป็นประโยชน์ต่ออุเทนถวาย เพื่อชี้แจงข้อมูลข้อเท็จจริงให้สังคมรับรู้ และดึงกระแสความชอบธรรมกลับมาอยู่ที่ฟากฝั่งพวกเขาบ้าง เนื้อหาที่ คพศ.นำมาแถลงสรุปได้ว่า อุเทนถวายก่อตั้งตามพระราชดำริของ ร.6 ตั้งแต่ปี พ.ศ.2465 โดยมีหลักฐานยืนยันว่า ร.6 ได้พระราชทานเงินการพระราชกุศลถาวรวัตถุสำหรับงานพระเมรุ สมเด็จกระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราชัย จำนวน 10,000 บาท ให้สร้างโรงเรียนนักเรียนเพาะช่าง ซึ่งที่ผ่านมาอุเทนถวาย ไม่เคยทำผิดในเจตจำนงค์ด้านการศึกษา ดังนั้นอุเทนถวายจะย้ายไป ก็ต่อเมื่อกระทำการใด ๆ กับที่ดินผืนนี้ โดยขัดพระราชประสงค์ ร.6 ที่ไม่ใช่ที่ดินเพื่อการศึกษา นอกจากนี้ คพศ.ยังชี้แจงกรณี กยพ.ชี้ขาดให้สิทธิ์ที่ดินเป็นของจุฬาฯ ว่า จริง ๆ แล้วอุเทนถวายมีความชอบธรรมที่จะอยู่ตรงนี้ต่อไป เพราะเป็นโรงเรียนที่เกิดขึ้นพร้อมจุฬาฯ ได้รับพระราชทานให้ก่อตั้งจากรัชกาลที่ 6 เช่นเดียวกับจุฬาฯ ที่สำคัญทั้งสองสถาบันมีความเชื่อมโยงกัน เพราะนักศึกษาสถาปัตยกรรมศาสตร์ของจุฬาฯ 5 รุ่นแรก คือศิษย์เก่าของอุเทนฯที่จบจากวิชาช่างแผนกแบบแปลน และรับเหมาก่อสร้าง โดยผู้ที่ร่างหลักสูตรให้คณะสถาปัตย์ จุฬาฯ


สำหรับประเด็นที่ คพศ. สืบค้นข้อมูลมามี 4 ประเด็นคือ
ประเด็นที่ 1 ประวัติการก่อตั้งโรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวาย
หากจะกล่าวว่า “โรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวาย ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ.2475” เห็นจะไม่ถูกต้องเสียทีเดียว เพราะแท้จริงมีต้นกำเนิดมาจากโรงเรียนฝึกหัดการหัตถกรรม พ.ศ.2456 ที่ได้รับโปรดเกล้าพระราชทานนามจากรัชกาลที่ 6 ว่า “โรงเรียนเพาะช่าง” ครั้งนั้นมีพระดำรัสความตอนหนึ่งว่า  “...เราเคยปรารภกับเจ้าพระยาพระเสด็จและผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องด้วยการศึกษา ที่จะใช้วิชาช่างของเราตั้งขึ้นใหม่จากพื้นเดิมของเราแล้ว และขยายให้แตกกิ่งก้านสาขางอกงามยิ่งขึ้น เปรียบเหมือนเอาพันธุ์พืช ของเราเองมาปลูกลงในพื้นแผ่นดินของเรา เอาพันธุ์ไม้ต่างประเทศมาปลูกลงในพื้นแผ่นดินของเราอันไม่เหมาะกัน โดยประสงค์เช่นนี้ เมื่อเจ้าพระยาเสด็จมาขอชื่อโรงเรียน เราระลึกผูกพันอยู่ในความเปรียบเทียบกับต้นไม้ดังกล่าวนี้ เราจึงได้ให้ชื่อโรงเรียนนี้ว่า โรงเรียนเพาะช่าง...”
โรงเรียนเปิดสอนวิชาหัตกรรมไทยมาแต่แรกตั้ง มีสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราชัย ทรงเป็นที่ปรึกษา ตั้งแต่ปี พ.ศ.2462 และทรงเป็นผู้บัญชาการโรงเรียนเพาะช่าง ตั้งแต่ พ.ศ.2465 กระทั่งสิ้นพระชนม์ “พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเงินการพระราชกุศลถาวรวัตถุ สำหรับงานพระเมรุ ท้องสนามหลวง คราวนี้ เป็นเงิน 10,000 บาท ให้สร้างโรงงานนักเรียนเพาะช่าง ทรงพระราชอุทิศพระราชทานแด่ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราชัย” โรงงานนักเรียนเพาะช่าง ที่ทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นนี้ ตั้งอยู่บริเวณอุเทนถวายปัจจุบัน
เมื่อคณะราษฎรยึดอำนาจ และเปลี่ยนแปลงการปกครองในวันที่ 24 มิถุนายน 2475ต่อมาเดือนตุลาคม 2475 เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี ได้มีคำสั่งเรื่องตั้งโรงเรียนวิสามัญศึกษาช่างก่อสร้าง ว่า .........บัดนี้ถึงเวลาสมควรที่จะตั้งโรงเรียนช่างก่อสร้างขึ้น เพื่อเป็นโรงเรียนฝึกหัดวิชาชีพต่อไป เพราะฉะนั้นให้ตั้งโรงเรียน วิสามัญศึกษาขึ้นที่โรงงานของโรงเรียนเพาะช่าง ถนนพญาไท เชิงสะพานอุเทนถวาย ตำบลถนนพญาไท โรงหนึ่ง ให้ชื่อว่า “โรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวาย” และขึ้นแขวงวิสามัญ กับให้มีกรรมการจัดการโรงเรียนขึ้นคณะหนึ่ง ทั้งนี้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ซึ่งได้ลงนามตั้งแต่วันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ.2475 โดยเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี ซึ่งเป็นเสนาบดีในตอนนั้น
โรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวายมีการพัฒนาเจริญก้าวหน้าโดยลำดับดังนี้
พ.ศ.2517 กระทรวงศึกษาธิการ ประกาศยกฐานะเป็นวิทยาลัยอุเทนถวาย
พ.ศ.2518 โอนเข้าสังกัดวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา เป็นวิทยาเขตอุเทนถวาย
พ.ศ.2531 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เป็นสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตอุเทนถวาย

พ.ศ.2548 เปลี่ยนสถานภาพเป็นมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย


ประเด็นที่ 2 ชี้แจง “หนังสือส่งเงินเช่าที่ดิน พ.ศ.2478”
โดยเอกสารที่สำนักจัดการทรัพย์สินแห่งจุฬาฯ ยกมากล่าวอ้างนั้น  คพศ. ตั้งข้อสังเกตจากเอกสารดังกล่าว 3 ข้อ คือ
2.1 เหตุใดเอกสารไม่ระบุตำแหน่งสถานที่ตั้งของที่เช่า และทำไมไม่ระบุจำนวนพื้นที่เช่า ซึ่งต้องตั้งคำถามย้อนกลับไปที่สำนักจัดการทรัพย์สินจุฬาฯ ว่า พื้นที่ตรงส่วนไหนและจำนวนเท่าไร
2.2 ทำไม “หนังสือส่งเงินเช่าที่ดิน พ.ศ.2478” ที่ สำนักจัดการทรัพย์สินจุฬาฯ นำเข้ากระบวนการไต่สวน และผ่านมติ กยพ. ดังปรากฎอยู่ในรายงานการประชุม และที่เปิดเผยต่อสาธารณชน ถึงเป็น “เอกสารแค่ฉบับเดียวที่นำมาใช้” แล้วฉบับก่อนหน้านั้น คือสัญญาเช่าหลัก ที่ระบุสถานที่ตั้ง ขนาดพื้นที่เช่า ระยะเวลาเช่า ซึ่ง สำนักจัดการทรัพย์สินจุฬาฯ ไม่เคยพูดถึงเลย


ประเด็นที่ 3 ชี้แจง “หนังสือเซ็นตกลงขนย้าย และส่งมอบพื้นที่ลงวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2547”
ในช่วงที่เซ็นบันทึกข้อตกลงในปี 2547 นั้น นายทวีชัย เหลี่ยมศิริวัฒนา เพิ่งดำรงตำแหน่งรักษาการผู้อำนวยการ วิทยาเขตอุเทนถวาย เป็นปีแรก โดยไม่มีการนำข้อตกลงดังกล่าวเสนอต่อสภาคณาจารย์ ศิษย์เก่า และศิษย์ปัจจุบัน เพื่อรับรองมติเลย กระทำไปลุแก่อำนาจปิดบังซ้อนเร้นบันทึกสัญญา
คพศ. ตั้งข้อสังเกตว่า หากพิจารณาหนังสือ สัญญาเช่าช่วง ก่อนหน้านี้ คือเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ.2545 จะเห็นข้อความว่า....
“ข้อ 1. ผู้ให้เช่าตกลงให้เช่า ผู้เช่าตกลงเช่าที่ดินบางส่วนของที่ดินโฉนดเลขที่ 2059 เนื้อที่ประมาณ 33,316.34 ตารางเมตร ซึ่งตั้งอยู่ที่ถนนพญาไท ใกล้เคียงโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา แขวงปทุมวัน กรุงเทพมหานคร ปรากฎรายละเอียดตามแผนผัง แนบท้ายสัญญานี้”


หากดูหนังสือสัญญาเช่าช่วง ลงวันที่ 11 มีนาคม 2547 จะพบความต่างแสดงให้เห็นว่า...

ข้อ 1. “สถาบัน” ตกลงขนย้ายและส่งมอบพื้นที่เช่าคืนให้แก่ “มหาวิทยาลัย” ภายในวันที่ 30 เดือนกันยายน 2548 ...........และวรรคต่อมาว่า..................หากมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ “สถาบัน” ไม่สามารถขนย้ายและส่งมอบพื้นที่เช่า ได้ภายในกำหนดเวลาดังกล่าวข้างต้น “มหาวิทยาลัย” จะพิจารณาผ่อนผันระยะเวลาการใช้สถานที่ให้ตามความจำเป็น แต่ทั้งนี้ไม่เกินระยะเวลา 1 ปี” โดยเรื่องบันทึกข้อตกลงดังกล่าว คณาจารย์ ศิษย์เก่า และศิษย์ปัจจุบัน ไม่เคยรู้เห็นกับการทำบันทึกข้อตกลงนี้ จวบจนเมื่อทราบเรื่องจึงได้ร่วมกันร้องขอความเป็นธรรมต่อรักษาการผู้อำนวยการวิทยาเขตอุเทนถวาย จนนำมาสู่บันทึกข้อตกลง 21 มีนาคม 2548  โดยสาระสำคัญของหนังสือฉบับนี้คือ

3.1 กระทำเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2547 ไม่ถูกต้อง ไม่ชอบธรรม ขอให้ทำหนังสือยกเลิกบันทึกข้อตกลงดังกล่าว

3.2 ให้ทำหนังสือตอบเรื่องถวายฎีกา และต้องเปิดเผยข้อความทั้งหมด

3.3 หนังสือที่เกี่ยวข้องกับวิทยาเขตอุเทนถวายในเรื่องการย้าย จะต้องเปิดเผยทุกเรื่องก่อนลงนามด้วยเหตุนี้ จึงนำมาสู่หนังสือ วันที่ 10 มิถุนายน 2548 เรื่อง ขอยกเลิกบันทึกข้อตกลงระหว่าง “จุฬาฯ” กับ “มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย” ฉบับลงวันที่ 11 มีนาคม 2547



ประเด็นที่ 4 ชี้แจงประเด็นที่อ้างมติชี้ขาดตามรายงานประชุม กยพ.

“วิทยาเขตอุเทนถวาย” ไม่เคยได้มีส่วนร่วมในการไต่สวนและชี้แจงรายละเอียดต่อ คณะกรรมการพิจารณาชี้ขาดการยุติในการดำเนินคดีแพ่งของส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (กยพ.) โดยประเด็นที่ชี้ขาดคือ ความเป็นเจ้าของที่ดินตามกฎหมาย แต่วิทยาเขตอุเทนถวายพูดถึงความชอบธรรมในการอยู่ในพื้นที่ ตามพระราชประสงค์ของรัชกาลที่ 6ที่ทรงบริจาคเงิน 10,000 บาท เพื่อสร้างถวายแด่พระเจ้าจุฑาธุชธราดิลก ซึ่งทางเรากำลังเรียกร้องประเด็นนี้

ส่วนเรื่องการยื่นฎีกา ครั้งที่ 2 สำนักราชเลขาธิการ ตีเรื่องกลับและยืนตามคำวินิจฉัยของ กยพ. โดยที่การยื่นถวายฎีกาทั้ง 2 ครั้งยังไม่เคยมีพระบรมราชวินิจฉัยลงมาเลย


บทความเพิ่มเติม
ศึก"อุเทนฯ-"จุฬา" ปมที่ต้องแก้...
ความขัดแย้งการบริหารจัดการทรัพย์สิน ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและอุเทนถวายฯ แม้ว่าจะยืดเยื้อมานานกว่า 10 ปี ตั้งแต่การเริ่มปี 2546 แต่ล่าสุดดูจะรุนแรงมากขึ้นเพราะการยืนยันหนักแน่นของ ศ.นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดีจุฬาฯเป็นวาระที่ 2  ที่จะนำเอาที่ดิน21 ไร่ซึ่งเป็นที่ตั้งของอุเทนถวายคืนมาเพื่อดำเนินการตามผังแม่บทปี 2559 ได้มีการกำหนดพื้นที่ฝั่งถนนพญาไท เป็นพื้นที่การศึกษา ซึ่งในส่วนของที่ตั้งอุเทนถวาย 21 ไร่ ที่จะได้รับคืนโดยกำหนดเป็นพื้นที่การศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ ที่มีความสำคัญในอนาคต ประกอบด้วย การจัดสร้างศูนย์นวัตกรรมสร้างสรรค์เพื่อชุมชนยั่งยืน 5 หน่วยงาน ได้แก่ หน่วยวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้งานสร้างสรรค์ หน่วยข้อมูลด้านนวัตกรรมงานสร้างสรรค์ หน่วยเผยแพร่นวัตกรรมงานสร้างสรรค์ หน่วยบ่มเพาะเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ และหน่วยพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ด้านนวัตกรรมสร้างสรรค์
นอกจากนี้จะสร้างพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้เพื่อสังคม และจัดตั้งคณะเทคโนโลยีอาหาร เพื่อพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อทำให้เกิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์
จุฬาลงกรณ์ ถือเป็นแลนด์ลอร์ดที่ได้รับพระราชทานที่ดินจากองค์รัชกาลที่ 5และที่ 6 ปัจจุบันถือครองที่ดินรวม พื้นที่ 1153 ไร่ โดยแบ่งพื้นที่ออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ 1. เขตพื้นที่การศึกษา สัดส่วน ร้อยละ52 โดยมีการขยายตัวตามการเติบโตของมหาวิทยาลัย อย่างเป็นพื้นที่ของศศินทร์ และคณะเภสัชศาสตร์ เดิมเมื่อปี2512 ก็เคยเป็นพื้นที่เช่ามาก่อน

2..เขตพื้นที่พาณิชย์ (ปล่อยเช่าเอกชน)ประมาณ ร้อยละ30ของพื้นที่ทั้งหมดเช่นสยามสแคว์ มาบุญครอง ตึกแถวสวนหลวง สามย่าน บริเวณถนนบรรทัด บริเวณสวนหลวง-สามย่าน และ3 เขตพื้นที่ราชการ (ให้ราชการเช่าราคาพิเศษและยืมใช้)อีกประมาณ 18% คือโรงเรียนปทุมวัน ม.อุเทนถวาย สน.ปทุมวัน ศูนย์ราชการสาธารณสุข กทม . สนามกีฬา โรงเรียนเตรียมอุดม โรงเรียนสาธิตปทุมวัน
ไม่เพียงอุเทนฯที่สำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะขอคืนที่ดินหากรวมหน่วยงานราชการในสังกัดกทม.รวม 4 แห่ง ประกอบด้วย สำนักงานเขตปทุมวัน ศูนย์บริการสาธารณสุข สถานีดับเพลิง และโรงเรียนปทุมวันแต่ความขัดแย้งในส่วนพื้นที่อื่นๆดูจะไม่รุนแรงและบานปลายเช่นเดียวกับ กรณีอุเทนถวายที่ทั้งศิษย์เก่า ศิษย์ปัจจุบันต่างรวมตัวกันเรียกร้องที่ดินคืนเพราะหากนับรวมประวัติศาสตร์อุเทนถวายถือเป็นโรงเรียนช่างแห่งแรกของประเทศที่มีมานานเกือบ 100 ปี
แม้จุฬาฯจะอ้างถึงข้อยุติทางกฎหมายดูจะหมดข้อกังขาว่าใครคือเจ้าของที่ดิน แต่ในแง่ของประวัติศาสตร์ คุณค่าของสถาบันการศึกษาที่เก่าแก่จึงน่าจะเป็นปัจจัยหนึ่งในการพิจารณาพอๆกับที่จุฬาฯบอกว่าจะนำเอาพื้นที่จำนวน 21 ไร่แห่งนี้ไปจัดทำเป็นศูนย์การศึกษาเพื่อประโยชน์สาธารณะ
ปมในการตัดสินใจครั้งนี้ อุเทนถวายควรจะย้ายหรือไม่นั้นจึงควรนำเอาคุณค่าทางประวัติศาสตร์ที่มีมายาวนานกว่า 80 ปีมาประมวลร่วมด้วย ไม่เพียงตัดสินเพียงแค่ข้อกฎหมายและแผนการดำเนินการพัฒนามหาวิทยาลัยที่เหมาะสมแต่เพียงอย่างเดียว

กรณี “อุเทนถวาย” โปรดฟังอีกครั้งหนึ่ง

การจะวิจารณ์อะไรมากไปคิดว่าไม่น่าจะเหมาะ เพราะผมเป็นสมาชิกของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเต็มตัวในฐานะทั้งศิษย์เก่าและครูบาอาจารย์ แต่เมื่อวันก่อนรับซองเงินเดือนพร้อมด้วยเอกสารเปิดผนึกแนบมาหนึ่งฉบับ (จุฬาสัมพันธ์ ฉบับพิเศษ) เป็นการไขข้องใจกรณีจดหมายจากสโมสรนักศึกษา มทร. ตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย เรื่อง ขอให้จุฬาฯ โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินคืนให้แก่โรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวาย ซึ่งผมขออนุญาตนำสาระสำคัญ 5 ข้อ แบบสรุปเรื่องที่มีการแถลงให้ประชาคมจุฬาฯ ทราบ มาเผยแพร่ให้สาธารณชนได้รับรู้ทั่วกันเพื่อความชัดเจนทั้งในบริบทของกฎหมายและข้อมูลต่างๆ ที่รับรู้จากสื่อกันเป็นส่วนใหญ่

ประการแรก การที่อุเทนถวายฯ อ้างพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวที่จะสืบทอดพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งทรงห่วงใยในศิลปะการช่างของไทยว่าจะถูกต่างชาติเข้าครอบงำนั้นเป็นที่มาของการก่อตั้ง “โรงเรียนเพาะช่าง” ในปี 2456 มิใช่ที่มาของ “โรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวาย” ซึ่งเกิดขึ้นในปี 2475

ประการที่สอง การอ้างว่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานที่ดินให้แก่โรงเรียนก่อสร้างอุเทนถวายก่อน พ.ร.บ. โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่จุฬาฯ ในปี 2482 โดยอ้างอิงหนังสือหอรัษฎากรพิพัฒน์และหนังสือกระทรวงวัง มีความคลาดเคลื่อน เพราะทั้งสองฉบับปรากฏแต่เพียงว่าเป็นการพระราชทานเงินเพื่อสร้าง “โรงเรียนนักเรียนเพาะช่าง” ไม่มีการอ้างไปถึงสิทธิ์ในที่ดินแต่อย่างใด

ประการที่สาม ทางอุเทนถวายอ้างว่า ที่ดินบนที่ตั้งของวิทยาเขตอุเทนถวายไม่เป็นส่วนหนึ่งของที่ดินแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนั้น ทางจุฬาฯ ได้ชี้แจงโดยการนำแนวเขตที่ดินซึ่งสามารถระบุได้ชัดเจนว่าครอบคลุมพื้นที่ของวิทยาเขตอุเทนถวาย โดยเฉพาะด้านทิศเหนือจดถนนสระประทุม ทิศตะวันออกยาวไปถึงสนามม้า เป็นต้น
ประการที่สี่ การอ้างหนังสือคำสั่งกระทรวงธรรมการ เรื่องตั้งโรงเรียนวิสามัญศึกษาช่างก่อสร้างนั้น เอกสารดังกล่าวกล่าวถึงที่ตั้งของโรงเรียนเท่านั้นมิได้มีการระบุเรื่องการมอบกรรมสิทธิ์ที่ดิน เพราะอยู่นอกเหนืออำนาจเสนาบดี จึงมิใช่เอกสารเกี่ยวกับสิทธิ์ในที่ดิน
ประการที่ห้า การตราพระราชบัญญัติ โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ตำบลปทุมวัน อำเภอปทุมวัน จังหวัดพระนคร ให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2482 ซึ่งส่งผลทางกฎหมายให้มหาวิทยาลัยมีสิทธิ์โดยชอบธรรมในการถือกรรมสิทธิ์และมีอำนาจจัดการที่ดินผืนดังกล่าวอย่างถูกต้อง
นอกจากทั้งห้าประเด็นสำคัญแล้ว ทางจุฬาฯ ยังได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า “คณะกรรมการพิจารณาชี้ขาดการยุติการดำเนินคดีแพ่งของส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (กยพ.)” ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่โดยตรงได้พิจารณาเรื่องนี้อย่างรอบคอบและมีมติให้อุเทนถวายขนย้ายและส่งมอบพื้นที่ดินให้กับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมาตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2549 โดยคณะรัฐมนตรีได้รับทราบความเห็นดังกล่าวเมื่อ 30 มีนาคม 2553 และการถวายฎีกาของตัวแทนฝ่ายอุเทนถวาย ทางสำนักราชเลขาธิการแจ้งให้เป็นไปตามคำวินิจฉัยฯ ของ กยพ. เมื่อ 4 กุมภาพันธ์ 2554
นั่นคือ ข้อมูลความจริงที่ปรากฏในเอกสารซึ่งผมได้รับมาและพยายามสรุปสาระสำคัญที่น่าจะเป็นประโยชน์ในการทำความเข้าใจต่อคนส่วนใหญ่ ส่วนตัวผมขอชื่นชม “คณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยชุดปัจจุบันที่ดำเนินการเรื่องนี้อย่างเปิดเผยตรงไปตรงมา” ซึ่งบางทีคนจำนวนหนึ่งอ่านเรื่องราวผ่านสื่อ หรือมีใจโน้มเอียงมีอคติก็อาจไม่เข้าใจในหลายสิ่งหลายอย่างซึ่งปรากฏชัดแจ้งดังถ้อยแถลงของจุฬาฯ สิ่งที่ผมอยากให้สังคมนี้เรียนรู้ในการอยู่ร่วมกัน คือ การอยู่ร่วมกันบนพื้นฐานของการเคารพกฎหมายที่ผ่านกระบวนการมาอย่างถูกต้องชอบธรรม และขอให้มองประโยชน์ของส่วนรวมคนส่วนใหญ่เป็นที่ตั้ง อย่ายึดติดกับค่านิยมความเชื่อส่วนตนเฉพาะกลุ่มพวก เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นพื้นฐานที่จะช่วยให้ปลูกฝังให้คนในสังคมสามารถเรียนรู้ถึงสิทธิหน้าที่อันมีความสำคัญต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่ยาวนานกว่า 81 ปีนี้ด้วย http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/politics/opinion/amorn/กรณี-อุเทนถวาย-โปรดฟังอีกครั้งหนึ่ง.html


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น