วันศุกร์ที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2556

กรณีความขัดแย้งจุฬา-อุเทน 3

สาเหตุของความขัดแย้ง
วิเคราะห์สาเหตุความขัดแย้งตามแนวคิดของ Moore
สาเหตุของความขัดแย้งเป็นความขัดแย้งในด้านข้อมูล ด้านผลประโยชน์ ด้านความสัมพันธ์ ด้านค่านิยม และด้านโครงสร้าง
ความขัดแย้งด้านข้อมูล : การตีความหลักฐานที่คลาดเคลื่อน ข้อมูลหลักฐานต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นหลักฐานที่แสดงความเป็นเจ้าของที่ดิน,สิ่งปลูกสร้าง บันทึกข้อความ และ สัญญาต่าง ๆ ไม่ครบถ้วนชัดเจน ข้อมูลที่แต่ละฝ่ายเปิดเผย เป็นข้อมูลที่เอื้อประโยชน์ให้กับฝ่ายตนเอง แต่ขัดแย้งกับข้อมูลของฝ่ายตรงข้าม
ความขัดแย้งด้านผลประโยชน์ : การสูญเสียผลประโยชน์ที่จะได้รับ ในด้านของจุฬาฯ อาจจะเป็นการล้มเหลวของโครงการที่วางแผนไว้ ส่วนอุเทนถวายก็จะต้องย้ายออกจากพื้นที่ที่เคยอยู่มานานโดยไม่เต็มใจ การย้ายสถานที่ก็ต้องใช้เงินอีกมหาศาล และอาจยังมีส่วนของประโยชน์แอบแฝงที่เรายังไม่ทราบแน่ชัดอีก
ความขัดแย้งด้านความสัมพันธ์ : ในสายตาของบุคคลทั่วไป จุฬาฯมีภาพลักษณ์ที่ดี ในการที่ได้สร้างบุคลากรผู้ทรงเกียรติให้กับประเทศมากมาย การมีภาพของสถาบันการศึกษาที่เก่าแก่และทรงคุณค่า แต่บางส่วนก็มองในมุมของความเห็นแก่ผลประโยชน์ กิจกรรมที่เป็นเชิงการดำเนินธุรกิจของจุฬาฯมากกว่า ส่วนอุเทนถวาย แม้จะมีคุณค่าของสถาบัน ผลิตบุคลากรที่ทรงเกียรติมากมายให้กับประเทศเช่นเดียวกับจุฬาฯ แต่ในบางครั้งภาพลักษณ์ในด้านของสถาบันที่นักเรียน-นักเลงก็ชัดเจนกว่าภาพลักษณ์ในด้านที่ดี การแสดงออกที่มีต่อปัญหาของทั้งสองฝ่ายมีความแตกต่างกันทั้งในด้านของคุณภาพและวิธีการ
ความขัดแย้งด้านค่านิยม : ค่านิยมของสถาบันที่มีความแตกต่างกัน การหล่อหลอม ความคิด ความเชื่อ ระบบความสัมพันธ์ต่าง ๆ ก็แตกต่าง ในอุเทนถวายจะสามารถเห็นได้ชัดเจนกว่า คือมีการปลูกฝังความภาคภูมิใจ การยึดมั่นในศักดิ์ศรีของสถาบันของตนอย่างเข้มข้น ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น และแสดงออกด้วยวิธีการที่มีแนวทางเป็นของตนเองอย่างชัดเจน  
ความขัดแย้งด้านโครงสร้าง : อุเทนถวายเคลือบแคลงในกระบวนการร่างพรบ.โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพระมหากษัตริย์ให้เป็นของจุฬาฯว่าไม่โปร่งใส เพราะในขณะนั้น จอมพล ป. พิบูลสงครามดำรงตำแหน่งทั้งอธิการบดีของจุฬาฯและนายกรัฐมนตรีในเวลาเดียวกัน ด้วยอำนาจของนายกรัฐมนตรี อาจจะสามารถดำเนินการใด ๆ ในสภาจนทำให้พรบ.นี้ผ่านออกมาสำเร็จ และในเวลาอันรวดเร็ว ดูเป็นการเหลื่อมล้ำของโครงสร้าง ที่ผู้มีอำนาจมกกว่าย่อมได้สิทธิ์มากกว่า ทำให้อุเทนถวายรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมและไม่ถูกต้อง ถึงแม้ที่ดินนั้นจะเป็นของจุฬาฯอย่างถูกกฎหมายก็ตาม
วิเคราะห์ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรง : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย (โรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวาย) สำนักงานเขตปทุมวัน ศูนย์ยริการสาธารณสุข สถานีดับเพลิง และโรงเรียนปทุมวัน
ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียรอง : รัฐบาล กระทรวงศึกษาธิการ กรมธนารักษ์ ศิษย์เก่าของทั้งสองสถาบัน
ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลัก : กรมธนารักษ์ รัฐบาล สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักราชเลาขาธิการ

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- มีที่ดินในความครอบครองตามกฎหมายที่ได้กล่าวอ้างมากมาย ใช้เป็นส่วนพื้นที่การศึกษาเป็นส่วนใหญ่ ส่วนพื้นที่พาณิชย์เปิดให้เอกชนเข้ามาเช่า ได้ประโยชน์จากการเก็บค่าเช่าจากเอกชนเหล่านั้น และอีกส่วนคือพื้นที่เขตราชการที่เปิดให้ทางราชการเช่าและยืมใช้
- เคยเป็นผู้ให้เช่าพื้นที่แก่อุเทนถวาย แต่ภายหลังต้องการเรียกคืนพื้นที่ในส่วนที่เปิดราชการเช่าและยืมใช้ ในส่วนที่รวมถึงเขตม.อุเทนถวาย เพื่อนำไปดำเนินการตามโครงการที่ได้วางไว้
- เจรขาขอพื้นที่คืนจากอุเทนถวายหลายครั้งแต่ไม่เป็นผล ทำให้เกิดความขัดแย้งกัน
- มีอำนาจทางสังคมค่อนข้างมาก เพราะเป็นที่รู้จักในนามมมหาวิทยาลัยชั้นแนวหน้าของประเทศ สร้างคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศมากมาย มีศิษย์เก่าที่สำเร็จการศึกษาที่ในปัจจุบันมีตำแหน่งหน้าที่สูงในสายงานต่าง ๆ  อยู่มาก ได้รับการสนับสนุนจากคนกลุ่มนี้
- ยื่นเรื่องต่อกรมธนารักษ์ให้จัดหาพื้นที่แก่อุเทนถวายในการย้ายไปเพื่อสร้างในที่ใหม่
- มีหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ให้พิจารณางบประมาณในการสนับสนุนการจัดตั้งพื้นที่แห่งใหม่ให้อุเทนถวาย
- ถวายฎีกาขอความเป็นธรรมกับศาลฎีกา
อุเทนถวาย
- อยู่ในพื้นที่ที่จุฬาฯต้องการเรียกคืน
- ในครั้งแรกยินยอมทำข้อตกลงย้ายออกจากพื้นที่ แต่ภายหลังประกาศเจตจำนงค์ว่าจะไม่ยอมย้ายออกเด็ดขาด
- มีศิษย์เก่าที่ดำรงตำแหน่งสูง ๆ ในสังคมจำนวนไม่น้อย แต่ภาพลักษณ์ขององค์กรเป็นไปในทางที่ไม่ค่อยดีนัก หลายครั้งที่เกิดเหตุการณ์นักศึกษาของอุเทนถวายสร้างความเดือดร้อนให้แก่ตนเองและส่วนรวมโดยการยกพวกตีกับสถาบันอื่น
- เมื่อไม่ต้องการย้ายออกจากพื้นที่ตามความต้องการของจุฬาฯ จึงมีการต่อสู้กันด้วยเหตุผลและหลักฐานต่าง ๆ
- มีการเดินขบวนผูู้ชุมนุมคัดค้านการย้ายอุเทนถวายไปยังจุฬาฯ
- เคยมีความสัมพันธ์อันดีกับจุฬามาก่อน ในฐานะเพื่อน พี่-น้อง ที่อยู่ร่วมกันในพื้นที่ใกล้เคียงกัน
สำนักงานเขตปทุมวัน ศูนย์บริการสาธารณสุข สถานีดับเพลิง และโรงเรียนปทุมวัน
- อยู่ในพื้นที่ที่จุฬาฯต้องการเรียกคืน
- กรณีโรงเรียนปทุมวันมีปัญหาเรื่องการสื่อสาร ทำให้ทางโรงเรียนยังรับนักเรียน โดยนักเรียนและผู้ปกครองไม่ทราบข่าวสารข้อเท็จจริง แต่ไม่ได้มีการคัดค้าน
- หน่วยงานที่เหลือยินยอมย้ายออกจากพื้นที่
รัฐบาล (สมัยพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร)
-  ได้จัดสรรงบประมาณ 200 ล้านบาท ผ่านสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาเพื่อสนับสนุนการดำเนินการย้าย
กระทรวงศึกษาธิการ
- ได้เคยมีความสนใจ ที่จะขอใช้พื้นที่บริเวณอุเทนถวายต่อจุฬาฯ เพื่อจัดตั้งสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้(องค์การมหาชน)
กรมธนารักษ์
- เกี่ยวข้องกับการดูแลทรัยพ์สินของพระมหากษัตริย์ ซึ่งในที่นี้ก็คือที่ดินของจุฬาฯในปัจจุบัน
- กรมธนารักษ์ได้เสนอพื้นที่ ต.บางปิ้ง จ.สมุทรปราการจำนวน ๓๖ ไร่ ตอบสนองตามคำขอของจุฬาฯให้กับอุเทนถวาย
สำนักงานอัยการสูงสุด
- ในกรณีนี้ได้ตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาชี้ขาดการยุติในการดำเนินคดีแพ่งของส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (กยพ.)
- กยพ.แจ้งผลชี้ขาดว่าอุเทนถวานจะต้องย้ายออก
สำนักราชเลขาธิการ
- จากการถวายฎีกาของอุเทนถวาย สำนักราชเลขาธิการได้พิจารณาและทำหนังสือตีเรื่องกลับโดยให้ยืนยันผลชี้ขาดตามมติของ กยพ.

ระดับความรุนแรงของปัญหา : ระดับประเทศ
ผลกระทบของปัญหา   
ผลกระทบทางลบ
-ประชาชนที่สัญจรไปมาในย่านนั้นได้รับความเดือนร้อนเมื่อมีการชุมนุมประท้วงของอุเทนถวายเพื่อทวงคืนที่ดิน และประชาชนในพื้นที่หวาดกลัวต่อความไม่ปลอดภัย ทั้งการที่มีข่าวว่านักศึกษาของอุเทนถวายขู่ทำร้ายนิสิตจุฬา อาจจะทำให้เกิดการทะเลาะวิวาทกันระหว่างสองฝ่าย
-เนื่องจากสถาบันทั้งสองเป็นสถาบันที่มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง พอมีข่าวทำนองความขัดแย้งออกมาทำให้เป็นที่วิภาควิจารณ์ในสังคม ส่งผลกระทบในด้านลบของทั้งสองสถาบัน จากคนอื่นที่มองมาทำให้เสียชื่อเสียง
-ผลกระทบต่อการศึกษาของนักเรียน ด้านอุเทนถวายนักศึกษามีความเชื่อในตำนาน ความรักในศักดิ์ศรี เชื่อฟังรุ่นพี่ จึงอยากปกป้องสถาบันของตนเเต่ปกป้องไม่ถูกวิธี อาจทำให้เกิดเหตุการณ์ที่อันตรายได้ ด้านจุฬานิสิตหวาดระเเวง กลัวที่จะถูกทำร้าย เนื่องจากเป็นที่รู้กันดีอยู่แล้วว่าอุเทนถวายมีข่าวการทะเลาะวิวาทและยกพวกตีกันค่อนข้างบ่อยครั้ง  
แนวทางการแก้ไขปัญหา
กลุ่มเห็นด้วยกับข้อเสนอของคุ เดชา บุญค้ำ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ ผู้ก่อตั้งภาควิชาภูมิสถาปัตยกรรม ที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยดำรงตำแหน่งดำรงตำแหน่งอาจารย์โทในคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ รองคณบดีฝ่ายวิชาการ และตำแหน่งคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์
ที่ว่า ทั้งสองฝ่ายควรลดอัตตาอันแรงกล้าของตน ที่ยึดมั่นในความต้องการหรือเจตจำนงค์ในฝ่ายของตัวเอง ลดการมองปัญหาแค่ในแง่ของการสูญเสียผลประโยชน์ หันมาใส่ใจในความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกันที่เคยมีมา ให้ความสำคัญกับเกียรติและคุณค่าที่มีในตัวของอีกฝ่ายให้มากขึ้น คำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมว่านอกจากตัวเองแล้ว ใครได้อะไร หรือสูญเสียอะไรจากเหตุการณ์นี้ และสมควรแล้วหรือไม่ที่จะได้หรือเสียสิ่งเหล่านั้น การคำนึงถึงสิ่งเหล่านี้มากขึ้นอาจจะทำให้สามารถหาทางออกของปัญหาที่ทั้งสองฝ่ายต่างพึงพอใจได้ เช่น การที่จุฬาฯขอให้กรมธนารักษ์หาพื้นที่สำหรับการย้ายออกของอุเทนถวายไว้ให้ และรัฐบาลก็ได้เสนองบประมาณสนับสนุนการย้ายออกให้ถึง 200 ล้านบาท แต่เหตุใดอุเทนถวายจึงไม่รับข้อเสนอ ถ้าหาความจริงจากเหตุผลที่ยังคลุมเครือของแต่ละฝ่าย แก้ปัญหาและตอบสนองความต้องการของกันและกันแบบพบกันคนละครึ่งทางได้ ปัญหาน่าจะยุติลงได้    
กฎหมายที่ควรเกี่ยวข้อง
- กฎหมายว่าด้วยทรัพย์สิน

- กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และ ทรัพย์สินส่วนพระองค์

- พระราชบัญญัติ จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์

ความเห็นของสมาชิก
ณัฐจิตรา : จากการศึกษาข้อมูลที่ผ่านมา คิดว่าประเด็นความขัดแย้งนี้ เป็นเรื่องของการขัดผลประโยชน์ซึ่งกันและกัน มีข้อเท็จจริงเบื้องลึกเบื้องหลังที่คนภายนอกยังไม่รู้อีกมาก อาจจะเป็นการนำเหตุผลที่มีความหมายในเชิงมนุษยธรรมมากล่าวอ้างเพื่อปกปิดเหตุผลทางผลประโยชน์ที่แท้จริง การนำเอกสารทางประวัติศาสตร์ที่ผ่านมานานหลายสิบปีมาตีความ อาจทำให้เกิดความผิดพลาด และถ้าหากการตีความนั้นขึ้นอยู่กับอคติของผู้ตีความก็สามารถทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนหรือเอนเอียงไปทางฝ่ายของตน เพราะฉะนั้นเรื่องไหน ประเด็นไหนเป็นเรื่องจริงจึงไม่สามารถบอกได้แน่ชัด แต่ถ้าหากคิดว่า กฎหมายที่กำหนดให้ที่ดินผืนนั้นเป็นของจุฬาฯโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ถึงแม้กระบวนการที่ทำให้เกิดกฎหมายอันนั้นจะไม่โปร่งใส แต่ก็เป็นเพียงข้อสันนิษฐาน นั่นแปลว่า จุฬาฯมีสิทธิ์ในที่ดินนั้นอย่างชอบธรรม การจะดำเนินการใดๆย่อมสามารถทำได้ ถึงจะขัดกับหลักมนุษยธรรมละดูหน้าเลือด แต่ก็ยังเป็นสิทธิ์ของจุฬาฯ
วิชุดา : ถ้าพูดในแง่ของกฎหมายในเมื่อศาลมีคำพิพากษาออกมาแล้วว่ากรรมสิทธิ์ที่ดินนั้นเป็นของจุฬาอุเทนถวายก็ควรที่จะทำตาม พูดง่ายๆให้เข้าใจได้ง่ายก็คืออุเทนถวายเช่าที่ของจุฬา คนเช่าเองก็ต้องรู้อยู่แก่ใจแล้วว่าสัญญาเช่าจะหมดลงเมื่อไร ปีไหน เมื่อหมดสัญญาเช่าก็เป็นสิทธิ์อันชอบธรรมของเจ้าของว่าจะต่อสัญญาให้หรือไม่ อีกทั้งการไม่ต่อสัญญาจุฬาก็ได้แจ้งแก่อุเทนถวายมาเป็นเวลาหลายปี  ไม่ได้แจ้งวันนี้แล้วให้ย้ายออกพรุ่งนี้  นอกจากนี้กรมธนารักษ์ยังจัดหาพื้นที่รองรับให้แก่อุเทนถวาย จำนวน 36 ไร่ ที่ ต.บางปิ้ง อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ ที่อุเทนถวายยังไม่ยอมย้ายไปเพราะเรื่องของความเชื่อ ศักดิ์ศรี รุ่นพี่รุ่นน้อง อ้างถึงแต่เรื่องความชอบธรรม อ้างถึงตำนานของสถาบัน  ถ้ายังเป็นอยู่แบบนี้ไม่ว่าจะหาทางออกใดก็ไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้  และปัญหานี้ก็ไม่รู้จะสิ้นสุดลงเมื่อใด
สนิตรา : ด้วยทั้งสองสถาบันเป็นสถาบันที่ขึ้นชื่อ จุฬา เราจะรู้จักกันว่าเป็นสถาบันที่มีเกียรติคนที่จบมาก็เป็นคนที่ดีและเก่งมาก ส่วนอุเทนถวายเป็นโรงเรียนด้านการช่างชื่อดังแม้จะมีชื่อเสียงในการสร้างเรื่องทะเลาะและความรุนแรงอยู่บ่อยครั้ง แต่ในเรื่องศักดิ์ศรีนั้นรักเป็นอย่างมาก ไม่ยอมใครง่ายๆ เช่นเดียวกับตอนนี้ที่กำลังไม่ยอมจุฬาในประเด็นความขัดแย้งเรื่องที่ดินที่จุฬาใช้สิทธิ์ หลักฐานแสดงว่าตนเป็นเจ้าของที่และกลับมาทวงคืนเพื่อนำไปสร้างศูนย์นวัตกรรมงานสร้างสรรค์เพื่อชุมชนยั่งยืน เป็นปัญหาที่ยืดเยื้อมานานแล้ว ในชั้นศาลก็ได้ตัดสินแล้วว่าจุฬาเป็นเจ้าของที่ดินมีการเตรียมที่ดินที่จะรองรับอุเทนที่สมุทรปราการ แต่ในปัจจุบันอุเทนก็ไม่ย้ายออกไป ในเรื่องของผลประโยชน์ต่อที่ดินผืนนี้ก็เป็นอีกสาเหตุนึงนึงที่ทำให้ประเด็นความขัดแย้งหาทางออกได้ยากขึ้น ทางออกของปัญหาคือต้องมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งยอมอาจจะให้อุเทนย้ายออกไปที่สมุทรปราการ แต่ก็ต้องใช้เวลาและงบประมาณในการก่อสร้างขนย้ายอย่างมาก หรือ อาจจะให้จุฬายกที่ดินให้อุเทน ซึ่งจุฬาก็มีแผนที่จะสร้างศูนย์นวัตกรรมงานสร้างสรรค์เพื่อชุมชนยั่งยืนอยู่แล้ว ทั้งสองคงจะไม่ยอม จากกรณีที่เดชา บุญค้ำ เสนอทางออกหนูว่าก็น่าสนใจมากทีเดียวที่ ให้จุฬาจัดตั้งสำนักวิชานวกรรมศาสตร์ (เทียบเท่าคณะวิชา) ขึ้นในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และโอนวิทยาลัยก่อสร้างอุเทนถวาย (ชื่อเดิม) มาอยู่ในสำนักวิชานี้ และใช้ชื่อว่า สำนักวิชานวกรรมศาสตร์อุเทนถวายแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย น่าจะเป็นทางออกที่ดี แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็อยู่ที่ทั้งสองฝ่ายว่าจะมีข้อเสนอ ข้อต่อรองกันอย่างไร ต้องดูต่อไปว่าทางออกไหนที่จะจัดการความขัดแย้งนี้ได้อย่างสมศักดิ์ศรีของทั้งสองสถาบัน
นริศรา : กรณีความขัดแย้งกันของ จุฬาฯ กับ อุเทนถวาย จากความคิดเห็นส่วนตัวคิดว่า ในส่วนลึกๆ นั้นเป็นปัญหาเกี่ยวกับผลประโยชน์ทั้งสิ้น สามารถพูดง่ายๆ เลยว่าปัญหาจะไม่เกิดถ้าทาง จุฬาฯ ไม่มีโครงการสร้าง "ศูนย์นวัตกรรมงานสร้างสรรค์เพื่อชุมชนอย่างยั่งยืน" โดยพื้นที่ที่ต้องการสร้างนั้นไปครอบคลุมในส่วนของ อุเทนถวาย เพราะก่อนหน้านั้นหลายสิบปีไม่มีปัญหาการขัดแย้งอะไรกัน อยู่กันมาแบบพี่แบบน้อง ตลอดจนปัจจุบันเกิดกรณีขัดแย้งกันเรื่องพื้นที่ ทั้งสองฝ่ายต่างก็ได้อ้างกรรมสิทธิ์ในที่ดินเพื่อแสดงว่าตนมีสิทธิ์ในที่ดินผืนนั้นๆ เอกสารที่นำมาอ้างนั้นเป็นเอกสารทางประวัติศาสตร์มีอายุเป็นร้อยปีแล้วอาจทำให้ข้อมูลต่างๆ นั้นคลาดเคลื่อน บางข้อมูลอาจไม่ถูกต้องที่สุด และ ขึ้นอยู่กับทัศนะคติของแต่ละบุคคลที่มีกับสถาบันการศึกษาทั้งสองด้วย ส่วนในทางด้านกฏหมายนั้นได้ตัดสินว่า จุฬาฯ เป็นเจ้าของพื้นที่นั้นๆ จากหลักฐานกรรมสิทธิ์ที่ดินที่มีความชัดเจนกว่าทาง อุเทนถวาย จึงเป็นสิทธิ์ของทาง จุฬาฯ ที่สามารถกระทำการใดๆ ได้อย่างเต็มที่ในพื้นที่ของตนเอง
ชลิต : ในส่วนเอกสารต่างๆที่ทั้ง 2 ฝ่ายได้นำมาอ้างกัน ยังมีเอกสารที่ยังเก็บเป็นความลับเพื่อใช้ในการต่อสู้กัน แต่ในเมื่อจุฬาฯ มีหลักฐานที่สามารถแสดงได้ว่า พื้นที่ตรงนี้เป็นที่ดินของจุฬาจริง ฝ่ายอุเทนถวายก็ต้องยอมยกที่ดินคืนแก่จุฬาฯ เพราะการต่อสู้ในด้านกฎหมายนั้น ฝ่ายจุฬาฯเป็นผู้ชนะอยู่แล้ว หลายฝ่ายที่มีส่วนร่วมในการเจรจาก็ลงความเห็นแล้วว่าอุเทนถวายต้องคืนพื้นที่ให้แก่จุฬาฯ ที่จุฬาฯไม่สามารถยึดที่ดินคืนได้นั้น อาจเป็นเพราะกฎหมู่ของฝั่งอุเทนถวายที่ฝ่ายจุฬาฯเอาชนะได้ยาก ถ้าอุเทนถวายยังใช้คำพูดในลักษณะที่ว่า "ร.6 พระราชทานที่ดินพื้นนี้ให้เพื่อการศึกษา" ก็เหมือนเป็นการใช้ข้ออ้างเพื่อไม่ให้เจ้าของที่ดินใช้กฎหมายในการยึดพื้นที่คืน เพราะในสังคมไทยให้ความเคารพในสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่แล้ว ผมเชื่อว่า ร.6 นั้นอยากให้พื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่เพื่อการศึกษาจริง เพราะมีสถานศึกษาอยู่ถึง 2 แห่ง แต่ในเมื่อที่ดินดังกล่าวมีเจ้าของแล้วนั้น ผู้เป็นเจ้าของย่อมมีสิทธิ์ดำเนินการต่างๆได้ แม้การได้ที่ดินมาของจุฬาฯนั้นจะโปร่งใสหรือไม่ก็ตาม จุฬาฯก็มีเอกสารความเป็นเจ้าของ ในส่วนของข้อเสนอของ อ.เดชา เป็นข้อเสนอที่ดี ฝ่ายบริหารของอุเทนถวายอาจตกลงเพื่อให้ปัญหาดังกล่าวจบลง แต่ถ้าฝ่ายนักศึกษาของอุเทนถวายรักศักดิ์ศรีจริง ก็เป็นการยากที่จะยอมโอนวิทยาลัยมาอยู่ในสำนักวิชานวัตกรรมศาสตร์อุเทนถวายแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพราะคงไม่ยอมตกเป็นเมืองขึ้นของใคร
ที่มาเพิ่มเติม
http://th.wikipedia.org/wiki/เดชา_บุญค้ำ
http://www.scribd.com/doc/37049715/กฎหมายทรัพย์สิน
สมาชิกกลุ่ม
1. นางสาวณัฐจิตรา เทาสกุล                รหัสนิสิต 54020188
2. นางสาวสนิตรา โพธิ์หิรัญ                  รหัสนิสิต 54020430
3. นางสาวนริศรา ทรงยศ รหัสนิสิต 54020629
4. นายชลิต ชังปลื้ม                             รหัสนิสิต 54021026
5. นางสาววิชุดา เดชา                          รหัสนิสิต 54021030

2 ความคิดเห็น:

  1. ควรเพิ่มเติม สาเหตุของความขัดแย้งตามแนวคิดของ Moore ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ด้วยจ้ะ

    ตอบลบ