วันพุธที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2556

กรณีความขัดแย้งจุฬา-อุเทน 1

ความขัดแย้งระหว่างจุฬา-อุเทน

ข้อมูลประวัติ
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นสถาบันอุดมศึกษาแห่งแรกของประเทศไทย ถือกำเนิดจากโรงเรียนสำหรับฝึกหัดวิชาข้าราชการฝ่ายพลเรือน โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งขึ้น ณ ตึกยาวข้างประตูพิมานชัยศรีในพระบรมมหาราชวังเมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๒ และได้รับพระบรมราชานุญาตให้เปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนมหาดเล็ก เมื่อ ๑ เมษายน พ.ศ.๒๔๔๕ ต่อมา ทั้งภาคราชการและเอกชนต้องการบุคลากรทำงานในสาขาวิชาต่างๆ กว้างขวางมากขึ้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระอนุสรณ์คำนึงถึงพระบรมราโชบายในสมเด็จพระบรมชนกาธิราชที่จะ ”ให้มีมหาวิทยาลัยขึ้นสำหรับเป็นสถาบันอุดมศึกษาของชาวสยาม" พอที่จะช่วยให้กิจการปกครองท้องที่ของกระทรวงมหาดไทยดำเนิน ไปได้ดีในระดับหนึ่งแล้วสมควรขยายการจัดการศึกษาเพื่อสนองความต้องการของ กระทรวง ทบวง กรมอื่น ๆ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สถาปนาโรงเรียนมหาดเล็กเป็นสถาบันอุดมศึกษา พระราชทานนามว่า "โรงเรียน ข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว" เมื่อ ๑ มกราคม ๒๔๕๓
        ต่อมาทรงเห็นว่าควรขยายกิจการให้กว้างขวางตามพระราชประสงค์เพื่อให้เป็นพระบรมราชานุสาวรีย์อันยิ่งใหญ่และถาวรในสมเด็จพระบรมชนกาธิราชพระองค์จึงได้ พระราชทานเงินทุนที่เหลือจากการที่ราษฎรได้เรี่ยไรเพื่อสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์พระบรมรูปทรงม้าจำนวนเก้าแสนกว่าบาทให้ใช้เพื่อสร้างอาคารเรียนและเป็นตึกบัญชาการบนที่ดินของพระคลังข้างที่จำนวน ๑,๓๐๙ ไร่ ซึ่งอยู่ที่อำเภอปทุมวัน และเงินที่เหลือจากการสร้างก็ได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้เพื่อกิจการของโรงเรียนต่อไปทั้งนี้ได้พระราชทานพระมหากรุณาธิคุณเสด็จพระราชดำเนินและทรงวางศิลาพระฤกษ์ในการสร้างอาคารดังกล่าวเมื่อ ๓ มกราคม พ.ศ.๒๔๕๘
        ต่อมาพระบาทสมเด็จพระมงกูฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีพระราชดำริที่จะขยายการศึกษาในโรงเรียนข้าราชการพลเรือนฯ ให้กว้างขวางยิ่งขึ้น คือ ไม่เฉพาะสำหรับผู้ที่จะเล่าเรียนเพื่อรับราชการเท่านั้น แต่จะรับผู้ซึ่งประสงค์จะศึกษาขั้นสูงให้เข้าเรียนได้ทั่วถึงกัน จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประดิษฐานโรงเรียนข้าราชการพลเรือนฯ ขึ้นเป็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเมื่อ ๒๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๕๙ เพื่อเป็นพระบรมราชานุสาวรีย์เฉลิมพระเกียรติแห่งสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ให้เจริญก้าวหน้ากว้างขวางแผ่ไพศาล และมิรู้เสื่อมสูญ โดยให้มหาวิทยาลัยแห่งนี้สังกัดอยู่ในกระทรวงธรรมการ (http://www.chula.ac.th/about/history/index.htm) http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2460/A/20.PDF

พระราชบัญญัติโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินอันเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ฯให้จุฬาฯ พ.ศ. 2482
 

พื้นที่มหาวิทยาลัย


แผนที่แสดงเขตพื้นที่ต่างๆของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
http://www.property.chula.ac.th/web/about/ความเป็นมาขององค์กร

พื้นที่การศึกษา
      จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แบ่งพื้นที่การศึกษาออกเป็น 6 ส่วน ซึ่งอยู่บริเวณ แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน ได้แก่
        ส่วนที่ 1 ฝั่งตะวันออกของถนนพญาไทประกอบด้วย พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว สนามรักบี้ หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ อาคารมหาวชิราวุธ ศาลาพระเกี้ยว ศูนย์หนังสือจุฬาฯ (สาขาศาลาพระเกี้ยว) หอประวัติ (ตึกจักรพงษ์) อาคารจุลจักรพงษ์ สระว่ายน้ำ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ คณะเศรษฐศาสตร์ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี วิทยาลัยประชากรศาสตร์ สถาบันภาษา สถาบันวิจัยสังคม สถาบันเอเชียศึกษา และสถาบันการขนส่ง
        ส่วนที่ 2 ฝั่งตะวันตกของถนนพญาไท ประกอบด้วย สำนักงานมหาวิทยาลัย (กลุ่มอาคารจามจุรี 1-5,8-9) บัณฑิตวิทยาลัย สนามกีฬาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศูนย์กีฬาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฟิตเนสเซ็นเตอร์ คณะนิเทศศาสตร์ คณะครุศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี สถาบันวิจัยโลหะและวัสดุ ศูนย์วิทยทรัพยากร สถานีวิทยุจุฬาฯ โรงพิมพ์จุฬาฯ ธรรมสถาน สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในพระบรมราชูปถัมภ์ หอพักนิสิตแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อาคารวิทยพัฒนา อาคารแว่นแก้ว หอพักศศนิเวศ อาคารศศปาฐศาลา ซึ่งเป็นที่ตั้งของสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์
        ส่วนที่ 3 ทิศเหนือของถนนพญาไท ติดกับสยามสแควร์ ประกอบด้วย คณะทันตแพทยศาสตร์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ โอสถศาลา และอาคารวิทยกิตติ์ ซึ่งเป็นที่ตั้งของศูนย์หนังสือจุฬาฯ (สาขาสยามสแควร์) คณะพยาบาลศาสตร์ (ชั้น 12) และคณะจิตวิทยา (ชั้น 16)
        ส่วนที่ 4 ทิศตะวันออกของถนนอังรีดูนังต์ บนพื้นที่ของสภากาชาดไทยเป็นที่ตั้งของคณะแพทยศาสตร์ และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลในสังกัดสภากาชาดไทย และวิทยาลัยพยาบาลสภากาชาดไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในสถาบันสมทบของจุฬาฯ
        ส่วนที่ 5 เป็นพื้นที่ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้รับคืนจากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (พลศึกษา) คือ พื้นที่บริเวณระหว่างห้างมาบุญครอง และสนามกีฬาแห่งชาติ ในส่วนนี้เป็นกลุ่มอาคารจุฬาพัฒน์ ซึ่งเป็นที่ตั้งของคณะวิทยาศาสตร์การกีฬา คณะสหเวชศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ คณะจิตวิทยา ศูนย์วิทยาศาตร์ฮาลาล และอาคารบรมราชชนนีศรีศตพรรษ ซึ่งเป็นที่ตั้งของศูนย์บริการวิทยาศาสตร์สุขภาพ
        ส่วนที่ 6 คือ พื้นที่ภายในโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา และโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปทุมวัน (ได้รับคืนจากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปทุมวัน) ในส่วนนี้เป็นกลุ่มอาคารจุฬาวิชช์ อันเป็นส่วนขยายของคณะศิลปกรรมศาสตร์ คณะจิตวิทยา และโครงการขยายโอกาสอุดมศึกษาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
       
พื้นที่เขตพาณิชย์
        เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวสถาปนาโรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในเวลาต่อมา) พระองค์มีพระราชประสงค์ให้ใช้ที่ดินส่วนหนึ่งเพื่อเป็นที่ปลูกสร้างสถานศึกษาและอีกส่วนหนึ่งให้ใช้จัดหาผลประโยชน์เพื่อนำมาปรับปรุงการศึกษาโดยไม่ต้องพึ่งงบประมาณแผ่นดินแต่เพียงอย่างเดียว โดยพื้นที่ของมหาวิทยาลัยในเขตปทุมวัน มีการแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ตามลักษณะการใช้พื้นที่ ได้แก่ พื้นที่เขตการศึกษา 637 ไร่ พื้นที่ส่วนราชการเช่าใช้ 131 ไร่ และพื้นที่เขตพาณิชย์ 385 ไร่ รวม 1,153 ไร่ (http://www.property.chula.ac.th/web/about/ความเป็นมาขององค์กร)

พื้นที่ต่างจังหวัด
นอกจากพื้นที่ในกรุงเทพมหานครแล้ว จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยยังมีพื้นที่การศึกษาในจังหวัดต่าง ๆ ได้แก่      

พื้นที่จังหวัดนครปฐม
        พื้นที่จังหวัดนครปฐมเกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2511 หลังจากการโอนย้ายคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ส่วนที่ตั้งอยู่บนพื้นที่ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกลับคืนมาเป็นคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยพลเอกประภาส จารุเสถียร อดีตอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ปรารภว่า "การโอนคณะสัตวแพทยศาสตร์โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้น การโอนก็ไม่มีความหมาย" ดังนั้น จึงได้โอนที่ดินของกระทรวงมหาดไทยที่ขณะนั้นว่างเปล่าอยู่ 79 ไร่ ในเขตตำบลบ่อพลับ อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม เพื่อจัดเป็นไร่ฝึกแก่นิสิตใช้ฝึกปฏิบัติวิชาสัตวบาลจนพัฒนาเป็น "ศูนย์ฝึกนิสิตคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย" และ "โรงพยาบาลปศุสัตว์" ดังนั้น มหาวิทยาลัยจึงขอใช้ชื่อว่า "ไร่ฝึกนิสิตจารุเสถียร" นอกจากจะใช้พื้นที่สำหรับสนับสนุนการเรียนการสอน การค้นคว้าวิจัย และตรวจรักษาปศุสัตว์และสัตว์เลี้ยงของประชาชนแล้ว ทางคณะสัตวแพทยศาสตร์ยังใช้ผลผลิตฟาร์มเป็นผลพลอยได้จำหน่ายเป็นสวัสดิการให้อาจารย์-บุคลากรของคณะและมหาวิทยาลัย http://www.vet.chula.ac.th/vet2007/history.html
       
พื้นที่จังหวัดน่าน
        พื้นที่จังหวัดน่านเป็นที่ตั้งของ "ศูนย์การเรียนรู้และบริการวิชาการเครือข่ายแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย" สำหรับให้บริการการศึกษาเรียนรู้สำหรับนิสิตโดยเฉพาะในหลักสูตรศิลปศาสตรบัณทิต สาขาวิชาการบริหารจัดการทรัพยากรการเกษตร ประกอบด้วย อาคารวิชชาคาม 1 อาคารวิชชาคาม 2 และกลุ่มอาคารชมพูภูค

พื้นที่จังหวัดสระบุรี
        การพัฒนาที่ดินจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่เขตอำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี เริ่มขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2532 โดยมีพื้นที่ทั้งหมดรวม 3,364 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ที่กรมป่าไม้อนุญาตให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยใช้ประโยชน์ 2,632 ไร่ และพื้นที่ที่มูลนิธินิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยให้ใช้ประโยชน์ 732 ไร่ โดยมีการแบ่งเขตพื้นที่ออกเป็น 5 เขต ได้แก่ เขตพื้นที่อนุรักษ์ธรรมชาติ เขตศูนย์วิจัยเฉพาะทาง เขตโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย-สระบุรี เขตบริการวิชาการและการศึกษา และเขตบริหารจัดการ โดยได้รับความร่วมมือจาก 6 คณะที่จะเข้าไปจัดทำโครงการในเขตพื้นที่ดังกล่าว ได้แก่ คณะเภสัชศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ คณะครุศาสตร์ และคณะวิศวกรรมศาสตร์ (http://www.prm.chula.ac.th/files/โครงการพัฒนาที่ดินสระบุรี240151_0.pdf)
        นอกจากนี้ ยังมีพื้นที่ในความดูแลของมหาวิทยาลัยแห่งอื่น เช่น พระตำหนักดาราภิรมย์ จังหวัดเชียงใหม่, พระจุฑาธุชราชฐานและพิพิธภัณฑ์ชลทัศนสถาน เกาะสีชัง จังหวัดชลบุรี


มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย

พ.ศ. 2461 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ แต่งตั้งให้ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราชัย มาดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการโรงเรียนเพาะช่าง จนกระทั่งสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2465 ตลอดระยะเวลาที่ทรงรับราชการ ได้บริหารการศึกษาศิลปหัตถกรรม ของโรงเรียนเพาะช่างให้เจริญรุ่งเรืองเป็นอันมาก ได้รับความนิยมตั้งแต่พระมหากษัตริย์ จนถึงเจ้านาย ข้าราชการ และบุคคลทั่วไป ตลอดชาวต่างประเทศ ทรงจัดตั้งแผนกช่างทอง แผนกเจียระไนเพชร พลอย แผนกทำบล็อกสกรีน โดยเฉพาะเครื่องถม ได้ขยายวิธีการไปอย่างกว้างขวางจนเป็นที่แพร่หลาย เป็นที่รู้จักมาจนถึงปัจจุบันคือ “ ถมจุฑาธุช “ ทรงจัดให้มีพิธีไหว้ครูช่างแบบอย่างโบราณขึ้นในโรงเรียนเพาะช่างเป็นครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. 2463 และทรงคิดสีประจำโรงเรียนคือ สีแดง-ดำ สีแดงหมายถึงเลือดของช่าง สีดำหมายถึงไม่ใช่ช่าง เพื่อเป็นเครื่องเตือนสติให้ช่างทั้งหลายได้มีเลือดเป็นสีแดงอยู่เสมอ อย่าให้สีแดงของช่างจางไปหรือกลายเป็นสีดำ
ทรงขยายแผนกการค้า ทรงสร้างห้องแสดงสินค้าห้องประชุมโรงเรียน จนกระทั่งนำผลกำไรจากการค้าของโรงเรียนไปสร้างโรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวายขึ้นอีกโรงเรียนหนึ่ง คือ วิทยาเขตอุเทนถวาย ปัจจุบัน นั่นเอง
วิทยาเขตอุเทนถวาย ก่อตั้งขึ้นโดยเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2477 โดยใช้ชื่อว่า โรงเรียนเพาะช่าง แผนกช่างก่อสร้าง โรงเรียนเพาะช่างก่อสร้างอุเทนถวาย หรือ "โรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวาย" ต่อมาในปี พ.ศ. 2518 จึงได้โอนมาเป็นวิทยาเขตในสังกัดวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา และได้เปลี่ยนชื่ออีกครั้งในปี พ.ศ. 2533 เป็น "สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตอุเทนถวาย"
ปัจจุบัน เป็นวิทยาเขตหนึ่งของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก เปิดสอนในสาขาวิศวกรรมศาสตร์และสถาปัตยกรรมศาสตร์ http://th.wikipedia.org/wiki/มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก_วิทยาเขตอุเทนถวาย

จุดเริ่มต้นความขัดแย้ง
อุเทนถวายได้ทำสัญญาเช่าบนที่ดินของจุฬาฯ เนื้อที่ 20 ไร่ 3 งาน 29 ตารางวา ตั้งแต่ปี
พ.ศ. 2478-2546 และจุฬาฯมีความประสงค์ขอพื้นที่คืนจากอุเทนถวายเพื่อขยายโอกาสทางการศึกษาของเยาวชนของชาติและเตรียมความพร้อมของประเทศในการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอันใกล้นี้ ตามนโยบายของรัฐบาล
ในปี พ.ศ. 2545 กระทรวงศึกษาธิการได้เคยมีความสนใจที่จะขอใช้พื้นที่บริเวณอุเทนถวายต่อจุฬาฯเพื่อจัดตั้งสำนักงานบริหารและพัฒนาอง์ความรู้ (องค์การมหาชน) โดยจะประสานงานจัดการเรื่องการย้ายอุเทนถวายไปยังสถานที่ที่เหมาะสม และเพื่อเป็นการขยายพื้นีท่ทางการศึกษาของอุเทนถวายด้วย ดังนั้น เพื่อช่วยคลี่คลายปัญหาดังกล่าว จุฬาได้ทำหนังสือถึงอธิบดีกรมธนารักษ์เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2545 เพื่อขอความอนุเคราะห์ในการจัดหาพื้นที่ให้อุเทนถวายประมาณ 30-50 ไร่ ซึ่งกรมธนารักษ์ได้เสนอพื้นที่ตำบลบางปิ้ง จังหวัดสมุทรปราการ จำนวน 36 ไร่ ให้กับอุเทนถวาย
จนกระทั่งในปี 2547 อุเทนถวายจึงมีการทำบันทึกข้อตกลง ฉบับลงวันที่ 11 มีนาคม 2547 ตกลงขนย้ายและส่งมอบพื้นที่คืนให้กับจุฬาฯ ภายในวันที่ 30 กันยายน 2548 โดยหากมีความจำเป็นก็จะผ่อนผันให้ไม่เกิน 1 ปี เท่านั้น ในปี 2548 จึงมีการทำบันทึกข้อตกลงร่วมกัน 4 ฝ่าย ได้แก่ จุฬาฯ สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา และอุเทนถวาย โดยมีสาระสำคัญในการตกลงที่อุเทนถวายจะย้ายไปก่อสร้างสถาบันใหม่ ณ ตำบลบางปลา อำเภอบางพลี จังหวดสมุทรปราการ และจะดำเนินการย้ายบุคลากรและนักศึกษาให้เสร็จสิ้นภาายในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2548 โดยเมื่อสิ้นสุดสัญญาเช่า กับอุเทนถวายแล้ว สำนักงายบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์าการมหาชน) ก็จะมาใช้พื้นที่นี้ต่อไป ทั้งนี้เพื่อสนับสนุนแผนการย้าย คณะรัฐมนตรีได้จัดสรรงบประมาณ 200 ล้านบาท ผ่านสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาเพื่อดำเนินการต่อไปอีกด้วย จุฬาฯได้มีการส่งหนังสือเพื่อให้อุเทนถวายส่งมอบพื้นที่คืนให้แก่จุฬาฯทั้งหมด 3 ครั้งคือ วันที่ 6 ธันวาคม 2549  จุฬาฯ ได้ส่งหนังสือถึงอุเทนถวายหลังจาก “คณะกรรมการเพื่อพิจารณาชี้ขาดการยุติในการดำเนินคดีแพ่งของส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง” (กยพ.) ที่สำนักงานอัยการสูงสุดแต่งตั้งขึ้นมาพิจารณาเรื่องนี้ มีมติชี้ขาดให้อุเทนถวายคืนพื้นที่ให้กับจุฬาฯ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2549 พร้อมทั้งชำระค่าเสียหายปีละประมาณ 1,000,000 บาทเศษ จนกว่าจะส่งมอบพื้นที่เป็นที่เรียบร้อย จากนั้นจึงตามมาด้วยหนังสือฉบับที่ 2 ลงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2550 และฉบับที่ 3 ลงวันที่ 10 กรกฎาคม 2550 สำหรับในส่วนค่าเสียหายอุเทนถวายยังไม่เคยชำระให้จุฬาฯเลยแม้แต่ครั้งเดียว
เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2552 กยพ. ได้มีมติชี้ขาดโดยให้อุเทนถวายขนย้ายทรัพย์สินและคืนพื้นที่ให้กับุฬาฯ และชำระค่าเสียหายปีละล้านบาทเศษจนกว่าจะส่งมอบพื้นที่เสร็จ โดยมติที่ประชุมมีข้อสังเกตว่า ในการย้ายนั้น ขอให้กระทรวงศึกษาธิการประสานงานกับกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อขอใช้ที่ราชพัสดุและงบประมาณสนับสนุนเพื่อการนี้ต่อไปด้วย
ในปี 2553 คณะรัฐมนตรีรับทราบมติดังกล่าว และอัยการสูงสุดแจ้งผลชี้ขาดของกยพ.ต่อจุฬาฯและอุเทนถวายต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว สำหรับผลการทูลเกล้าฯถวายฎีกา สำนักราชเลขาธิการได้มีหนังสือยืนยันผลการชี้ขาดตามมติของกยพ.ถึงอุเทนถวาย ฉบับลงวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2554  หลังจากนั้นจุฬาฯจึงมีหนังสือสอบถามความคืบหน้าการปฏิบัติตามติคณะรัฐมนตรีไปยังอุเทนถวายตามหนังสือฉบับลงวันที่ 31 สิงหาคม 2554 แต่จนถึงปัจจุบัน อุเทนถวายยังไม่ได้ปฏิบัติตามการชี้ขาดจากกยพ.แต่ประการใด https://fbcdn-sphotos-b-a.akamaihd.net/hphotos-ak-ash3/s720x720/35453_533428720035147_1500628836_n.jpg

‘อุเทน’ ดิ้นสู้ถวายฎีกา
ฟากอุเทนถวายชี้แจงว่า การที่นายทวีชัย เหลี่ยมศิริวัฒนา รักษาราชการแทนผู้อำนวยการอุเทนถวาย ลงนามในคำสั่งหนังสือลงวันที่ 11 มีนาคม 2547 ตกลงขนย้ายและส่งมอบพื้นที่คืนให้จุฬาฯ นั้น ถือเป็นการปิดบังซ่อนเร้นบันทึกสัญญา เนื่องจากนายทวีชัยเพิ่งเข้ามารักษาการเป็นปีแรก ไม่เคยเสนอข้อตกลงดังกล่าวให้สภาคณาจารย์ ศิษย์เก่า และศิษย์ปัจจุบันรับทราบเพื่อรับรองมติ ดังนั้นอุเทนถวายจึงรวมตัวร้องขอความเป็นธรรมกับนายทวีชัย นำมาสู่บันทึกข้อตกลงในวันที่ 21 มีนาคม 2548 สรุปใจความว่า ข้อตกลงเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2547 ไม่ถูกต้อง ไม่ชอบธรรม ขอให้นายทวีชัยทำหนังสือยกเลิกบันทึกฉบับดังกล่าว ทำหนังสือที่เกี่ยวข้องกับการขอย้าย โดยเปิดเผยทุกเรื่องก่อนการลงนาม และทำหนังสือตอบเรื่องถวายฎีกา ที่สโมสรนักศึกษาอุเทนถวาย ได้ทูลเกล้าฯถวายฎีกาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 2 ครั้ง เพื่อทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยลงมา กระทั่งวันที่ 10 มิถุนายน 2547 นายทวีชัยจึงทำหนังสือยกเลิกบันทึกที่ทำไว้กับจุฬาฯ สรุปได้ว่า อุเทนถวายไม่ยอมรับการขนย้ายและส่งมอบพื้นที่คืนให้จุฬาฯ โดยอ้างว่าเป็นการตัดสินใจจากคนเพียงคนเดียว ไม่ใช่การตัดสินใจจากอุเทนถวายทุกคน โดยพวกเขาเชื่อมั่นว่า “หากใช้ผืนดินนี้เพื่อประโยชน์ทางการศึกษา ตามพระราชประสงค์ของ รัชกาลที่ 6 ที่ทรงพระราชทานเงิน จำนวน 10,000 บาท เพื่อก่อสร้างโรงเรียนขึ้นมา อุเทนถวายก็ยังมีสิทธิ์อันชอบธรรมที่จะครอบครองที่ดินผืนนี้สืบไป”
ส่วนการพิจารณาของ กยพ.นั้น ทางอุเทนถวายชี้แจงว่า ตลอดระยะเวลาที่ กยพ.พิจารณาความเป็นเจ้าของที่ดินตามกฎหมาย อุเทนถวายไม่เคยเข้าไปมีส่วนร่วมในการไต่สวนและชี้แจงรายละเอียดเลยแม้แต่ครั้งเดียว ดังนั้นพวกเขาจึงไม่ยอมรับคำตัดสิน ขณะที่การทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาทั้ง 2 ครั้งคือวันที่ 2 มีนาคม 2547 และ 9 กรกฎาคม 2552 นั้น แม้สำนักราชเลขาธิการจะมีหนังสือที่ รล 0007.4/1935 ลงวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2554 อ้างถึงหนังสือสำนักราชเลขาธิการ ที่ รล 0009.4/22943 ลงวันที่ 25 ธันวาคม 2552 ตีเรื่องกลับโดยให้ยืนยันผลชี้ขาดตามมติของ กยพ. แต่เมื่ออุเทนถวายมองว่า การตัดสินของ กยพ.ไม่เป็นที่ยอมรับ จึงยังคงยืนกระต่ายขาเดียวปักหลักเรียกร้องสิทธิ์ต่อไป พร้อมตั้งทีมศึกษาค้นคว้าข้อมูลทางประวัติศาสตร์ มาใช้ในการต่อสู้ ซึ่งประเด็นนี้มีข้อสังเกตอยู่ตรงที่ประกาศว่า การลงนามตกลงขนย้ายและส่งมอบพื้นที่คืนให้จุฬาฯ ของ รรก.ผอ.วิทยาเขตอุเทนถวาย เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2547 คณาจารย์ บุคลากร ศิษย์เก่า และศิษย์ปัจจุบันยืนยันว่าไม่เคยรับทราบมาก่อน

จากนั้นเป็นต้นมาความเป็นไม้เบื่อไม้เมาก็คุกรุ่นขึ้นเรื่อย ๆ กระทั่งจุฬาฯ เริ่มดำเนินการตามมาสเตอร์ แพลนที่วางไว้อย่างจริงจัง เช่น การขอคืนพื้นที่ตั้งเดิมของโรงเรียนปทุมวัน เพื่อปรับปรุงเป็นสวนสาธารณะสำหรับคนกรุงเทพฯ หลังจากอ้างว่าได้หารือร่วมกับสำนักงานการศึกษา กทม.แล้ว การเตรียมขึ้นค่าเช่าสนามศุภชลาศัย การขยายพื้นที่ถนนจุฬาฯ ซอย 5 ให้กว้างขึ้น เพื่อลดปัญหาการจราจร โดยจะรวมศูนย์ราชการของ กทม.ประกอบด้วย สถานีตำรวจปทุมวัน สถานีดับเพลิงปทุมวัน สาธารณสุข กทม.ไว้ด้วยกันเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชน หรือการยื่นคำสั่งศาลขอบังคับให้อุเทนถวายออกจากที่ดินผืนดังกล่าว ภายใน 30 วัน หลังศาลมีคำสั่งให้จุฬาฯ ชนะคดี ส่งผลเกิดกระแสต่อต้านจากกลุ่มศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบันอุเทนถวายกว่า 500 คน ที่ทราบข่าว รวมตัวเดินขบวนประท้วงกรณีการทวงคืนที่ดิน หน้าสำนักงานจัดการทรัพย์สินแห่งจุฬาฯ พร้อมทั้งวางพวงหรีดประชดประเทียดเสียดสี มาตรการเชิงรุกของจุฬาฯ ไปตามถนนพญาไท เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2556 ที่สำคัญคืออุเทนถวายไม่ได้สู้อย่างโดดเดี่ยวเหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา แต่ดึงกระแสสังคมที่เริ่มโจมตีจุฬาฯ มาใช้ให้เป็นประโยชน์ ด้วยการเป็นเจ้าภาพรับเรื่องร้องเรียน และเรียกร้องขอคืนพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นสนามศุภชลาศัยที่ถูกขึ้นค่าเช่า โรงเรียนปทุมวันที่ถูกยกเลิกสัญญา ตลอดจนการบีบให้พวกเขาออกจากผืนดินที่ตั้งสถาบันภายใน 30 วัน

ศ.น.พ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ออกมายืนยันว่า การขอที่ดินคืนก็เพื่อใช้เป็นพื้นที่การศึกษา พัฒนาเป็นศูนย์นวัตกรรมงานสร้างสรรค์เพื่อชุมชนยั่งยืน ไม่มีนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์แต่อย่างใด ที่สำคัญตลอดมาจุฬาฯ ได้พยายามหาทางช่วยเหลือมาโดยตลอด กระทั่งกรมธนารักษ์ได้จัดหาพื้นที่ใหม่ให้ ขณะที่ครม.ก็จัดสรรงบประมาณ 200 ล้านบาท ให้สำหรับก่อสร้างและขนย้าย แต่เมื่ออุเทนถวายไม่ยอมย้ายไป สุดท้ายกรมธนารักษ์จึงนำที่ดินผืนดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ในด้านอื่นแทน ดังนั้นกรณีของอุเทนถวายจะต้องแก้ไขโดยขอความร่วมมือจากรัฐบาล กระทรวงศึกษาธิการและหน่วยงานต่าง ๆ จัดหาพื้นที่ที่เหมาะสม พร้อมทั้งงบประมาณให้ใหม่ ในส่วนของโรงเรียนปทุมวันนั้น จุฬาฯยืนยันว่าได้หารือร่วมกับสำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร แล้ว ซึ่งทั้งสองฝ่ายเข้าใจกันดี แต่หากประชาชนได้รับผลกระทบ จุฬาฯก็จะหารือกับทุกฝ่ายอีกครั้ง
วันที่ 4 มีนาคม อธิการบดีจุฬาฯ จึงเข้าพบ นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี และรมว.ศึกษาธิการ เพื่อหารือถึงข้อพิพาท และชี้แจงว่า ที่ดินผืนนี้ผ่านการตีความชี้ขาดให้เป็นสิทธิของจุฬาฯ จาก กยพ.แล้ว โดยอุเทนถวายต้องย้ายออกไป ดังนั้นนายพงศ์เทพจึงรับปากจะประสานไปยังผู้บริหารอุเทนถวาย เพื่อให้ดำเนินการตามมติ กยพ. ตลอดจนทำความเข้าใจกับบุคลากร ศิษย์เก่า และศิษย์ปัจจุบัน ที่จะออกมาเคลื่อนไหวประท้วง ว่าจะต้องย้ายไปสถานศึกษาใหม่ เพราะที่ดินดังกล่าวเป็นของจุฬาฯตามกฎหมาย โดยกระทรวงศึกษาธิการ จะพิจารณาพื้นที่ตั้งใหม่จากที่ดิน ซึ่งรัฐบาลเป็นเจ้าของ เช่น ที่ดินราชพัสดุ ในพื้นที่ จ.สมุทรปราการ เป็นต้น
เวลาผ่านไปจนถึงวันที่ 11 มีนาคม 2556 คณะผู้บริหารจุฬาฯ จึงตั้งโต๊ะแถลงข่าวการจัดการทรัพย์สินของจุฬาฯ อีกครั้งโดยอธิบายว่า ผลประโยชน์ส่วนใหญ่ที่ได้รับจากการบริหารจัดการทรัพย์สินที่ได้จากที่ดินพระราชทานของจุฬาฯ เป็นการดำเนินการตามแนวพระราชดำริของพระองค์ท่านผู้สถาปนาจุฬาฯ ที่ทรงเล็งเห็นว่า การที่มหาวิทยาลัยจะสามารถดำเนินพันธกิจหลักของมหาวิทยาลัยได้ จำเป็นต้องมีทรัพยากรเกื้อหนุนเพิ่มเติมจากงบประมาณแผ่นดิน เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ในเวทีโลก ซึ่งงบประมาณจากเงินรายได้ของมหาวิทยาลัย จะนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพด้านวิชาการของมหาวิทยาลัยในทุก ๆ ด้าน ทั้งนี้การขอเวนคืนที่ดินอุเทนถวาย จะต้องเป็นไปตามมาสเตอร์แพลน ที่จุฬาฯ เตรียมการไว้ หากอุเทนถวายไม่สามารถย้ายออกได้ เนื่องจากยังไม่มีพื้นที่ใหม่ จุฬาฯก็สามารถรอต่อไปได้ เพราะเหตุการณ์ทั้งหมดมีข้อยุติเชิงกฎหมายแล้ว การแถลงข่าวในวันนั้น ศ.นพ.ภิรมย์ยืนยันว่า เข้าใจและเห็นใจอุเทนถวาย จึงไม่ได้รบเร้าให้ย้ายออกไปภายในวันสองวัน ตราบใดที่ยังไม่ได้ที่ดินผืนใหม่ ดังนั้นทางออกที่ดีที่สุดคือ การจับเข่าคุยกันโดยมีกระทรวงศึกษาธิการร่วมวงด้วย เพื่อวางแผนอนาคตว่า ควรย้ายไปในช่วงเวลาไหนถึงจะเหมาะสม และถ้าตกลงได้จะเกิดผลดีทุกฝ่าย ซึ่งน่าจะเป็นทางออกที่ดี