วันศุกร์ที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2556

กรณีความขัดแย้งจุฬา-อุเทน 3

สาเหตุของความขัดแย้ง
วิเคราะห์สาเหตุความขัดแย้งตามแนวคิดของ Moore
สาเหตุของความขัดแย้งเป็นความขัดแย้งในด้านข้อมูล ด้านผลประโยชน์ ด้านความสัมพันธ์ ด้านค่านิยม และด้านโครงสร้าง
ความขัดแย้งด้านข้อมูล : การตีความหลักฐานที่คลาดเคลื่อน ข้อมูลหลักฐานต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นหลักฐานที่แสดงความเป็นเจ้าของที่ดิน,สิ่งปลูกสร้าง บันทึกข้อความ และ สัญญาต่าง ๆ ไม่ครบถ้วนชัดเจน ข้อมูลที่แต่ละฝ่ายเปิดเผย เป็นข้อมูลที่เอื้อประโยชน์ให้กับฝ่ายตนเอง แต่ขัดแย้งกับข้อมูลของฝ่ายตรงข้าม
ความขัดแย้งด้านผลประโยชน์ : การสูญเสียผลประโยชน์ที่จะได้รับ ในด้านของจุฬาฯ อาจจะเป็นการล้มเหลวของโครงการที่วางแผนไว้ ส่วนอุเทนถวายก็จะต้องย้ายออกจากพื้นที่ที่เคยอยู่มานานโดยไม่เต็มใจ การย้ายสถานที่ก็ต้องใช้เงินอีกมหาศาล และอาจยังมีส่วนของประโยชน์แอบแฝงที่เรายังไม่ทราบแน่ชัดอีก
ความขัดแย้งด้านความสัมพันธ์ : ในสายตาของบุคคลทั่วไป จุฬาฯมีภาพลักษณ์ที่ดี ในการที่ได้สร้างบุคลากรผู้ทรงเกียรติให้กับประเทศมากมาย การมีภาพของสถาบันการศึกษาที่เก่าแก่และทรงคุณค่า แต่บางส่วนก็มองในมุมของความเห็นแก่ผลประโยชน์ กิจกรรมที่เป็นเชิงการดำเนินธุรกิจของจุฬาฯมากกว่า ส่วนอุเทนถวาย แม้จะมีคุณค่าของสถาบัน ผลิตบุคลากรที่ทรงเกียรติมากมายให้กับประเทศเช่นเดียวกับจุฬาฯ แต่ในบางครั้งภาพลักษณ์ในด้านของสถาบันที่นักเรียน-นักเลงก็ชัดเจนกว่าภาพลักษณ์ในด้านที่ดี การแสดงออกที่มีต่อปัญหาของทั้งสองฝ่ายมีความแตกต่างกันทั้งในด้านของคุณภาพและวิธีการ
ความขัดแย้งด้านค่านิยม : ค่านิยมของสถาบันที่มีความแตกต่างกัน การหล่อหลอม ความคิด ความเชื่อ ระบบความสัมพันธ์ต่าง ๆ ก็แตกต่าง ในอุเทนถวายจะสามารถเห็นได้ชัดเจนกว่า คือมีการปลูกฝังความภาคภูมิใจ การยึดมั่นในศักดิ์ศรีของสถาบันของตนอย่างเข้มข้น ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น และแสดงออกด้วยวิธีการที่มีแนวทางเป็นของตนเองอย่างชัดเจน  
ความขัดแย้งด้านโครงสร้าง : อุเทนถวายเคลือบแคลงในกระบวนการร่างพรบ.โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพระมหากษัตริย์ให้เป็นของจุฬาฯว่าไม่โปร่งใส เพราะในขณะนั้น จอมพล ป. พิบูลสงครามดำรงตำแหน่งทั้งอธิการบดีของจุฬาฯและนายกรัฐมนตรีในเวลาเดียวกัน ด้วยอำนาจของนายกรัฐมนตรี อาจจะสามารถดำเนินการใด ๆ ในสภาจนทำให้พรบ.นี้ผ่านออกมาสำเร็จ และในเวลาอันรวดเร็ว ดูเป็นการเหลื่อมล้ำของโครงสร้าง ที่ผู้มีอำนาจมกกว่าย่อมได้สิทธิ์มากกว่า ทำให้อุเทนถวายรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมและไม่ถูกต้อง ถึงแม้ที่ดินนั้นจะเป็นของจุฬาฯอย่างถูกกฎหมายก็ตาม
วิเคราะห์ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรง : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย (โรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวาย) สำนักงานเขตปทุมวัน ศูนย์ยริการสาธารณสุข สถานีดับเพลิง และโรงเรียนปทุมวัน
ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียรอง : รัฐบาล กระทรวงศึกษาธิการ กรมธนารักษ์ ศิษย์เก่าของทั้งสองสถาบัน
ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลัก : กรมธนารักษ์ รัฐบาล สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักราชเลาขาธิการ

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- มีที่ดินในความครอบครองตามกฎหมายที่ได้กล่าวอ้างมากมาย ใช้เป็นส่วนพื้นที่การศึกษาเป็นส่วนใหญ่ ส่วนพื้นที่พาณิชย์เปิดให้เอกชนเข้ามาเช่า ได้ประโยชน์จากการเก็บค่าเช่าจากเอกชนเหล่านั้น และอีกส่วนคือพื้นที่เขตราชการที่เปิดให้ทางราชการเช่าและยืมใช้
- เคยเป็นผู้ให้เช่าพื้นที่แก่อุเทนถวาย แต่ภายหลังต้องการเรียกคืนพื้นที่ในส่วนที่เปิดราชการเช่าและยืมใช้ ในส่วนที่รวมถึงเขตม.อุเทนถวาย เพื่อนำไปดำเนินการตามโครงการที่ได้วางไว้
- เจรขาขอพื้นที่คืนจากอุเทนถวายหลายครั้งแต่ไม่เป็นผล ทำให้เกิดความขัดแย้งกัน
- มีอำนาจทางสังคมค่อนข้างมาก เพราะเป็นที่รู้จักในนามมมหาวิทยาลัยชั้นแนวหน้าของประเทศ สร้างคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศมากมาย มีศิษย์เก่าที่สำเร็จการศึกษาที่ในปัจจุบันมีตำแหน่งหน้าที่สูงในสายงานต่าง ๆ  อยู่มาก ได้รับการสนับสนุนจากคนกลุ่มนี้
- ยื่นเรื่องต่อกรมธนารักษ์ให้จัดหาพื้นที่แก่อุเทนถวายในการย้ายไปเพื่อสร้างในที่ใหม่
- มีหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ให้พิจารณางบประมาณในการสนับสนุนการจัดตั้งพื้นที่แห่งใหม่ให้อุเทนถวาย
- ถวายฎีกาขอความเป็นธรรมกับศาลฎีกา
อุเทนถวาย
- อยู่ในพื้นที่ที่จุฬาฯต้องการเรียกคืน
- ในครั้งแรกยินยอมทำข้อตกลงย้ายออกจากพื้นที่ แต่ภายหลังประกาศเจตจำนงค์ว่าจะไม่ยอมย้ายออกเด็ดขาด
- มีศิษย์เก่าที่ดำรงตำแหน่งสูง ๆ ในสังคมจำนวนไม่น้อย แต่ภาพลักษณ์ขององค์กรเป็นไปในทางที่ไม่ค่อยดีนัก หลายครั้งที่เกิดเหตุการณ์นักศึกษาของอุเทนถวายสร้างความเดือดร้อนให้แก่ตนเองและส่วนรวมโดยการยกพวกตีกับสถาบันอื่น
- เมื่อไม่ต้องการย้ายออกจากพื้นที่ตามความต้องการของจุฬาฯ จึงมีการต่อสู้กันด้วยเหตุผลและหลักฐานต่าง ๆ
- มีการเดินขบวนผูู้ชุมนุมคัดค้านการย้ายอุเทนถวายไปยังจุฬาฯ
- เคยมีความสัมพันธ์อันดีกับจุฬามาก่อน ในฐานะเพื่อน พี่-น้อง ที่อยู่ร่วมกันในพื้นที่ใกล้เคียงกัน
สำนักงานเขตปทุมวัน ศูนย์บริการสาธารณสุข สถานีดับเพลิง และโรงเรียนปทุมวัน
- อยู่ในพื้นที่ที่จุฬาฯต้องการเรียกคืน
- กรณีโรงเรียนปทุมวันมีปัญหาเรื่องการสื่อสาร ทำให้ทางโรงเรียนยังรับนักเรียน โดยนักเรียนและผู้ปกครองไม่ทราบข่าวสารข้อเท็จจริง แต่ไม่ได้มีการคัดค้าน
- หน่วยงานที่เหลือยินยอมย้ายออกจากพื้นที่
รัฐบาล (สมัยพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร)
-  ได้จัดสรรงบประมาณ 200 ล้านบาท ผ่านสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาเพื่อสนับสนุนการดำเนินการย้าย
กระทรวงศึกษาธิการ
- ได้เคยมีความสนใจ ที่จะขอใช้พื้นที่บริเวณอุเทนถวายต่อจุฬาฯ เพื่อจัดตั้งสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้(องค์การมหาชน)
กรมธนารักษ์
- เกี่ยวข้องกับการดูแลทรัยพ์สินของพระมหากษัตริย์ ซึ่งในที่นี้ก็คือที่ดินของจุฬาฯในปัจจุบัน
- กรมธนารักษ์ได้เสนอพื้นที่ ต.บางปิ้ง จ.สมุทรปราการจำนวน ๓๖ ไร่ ตอบสนองตามคำขอของจุฬาฯให้กับอุเทนถวาย
สำนักงานอัยการสูงสุด
- ในกรณีนี้ได้ตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาชี้ขาดการยุติในการดำเนินคดีแพ่งของส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (กยพ.)
- กยพ.แจ้งผลชี้ขาดว่าอุเทนถวานจะต้องย้ายออก
สำนักราชเลขาธิการ
- จากการถวายฎีกาของอุเทนถวาย สำนักราชเลขาธิการได้พิจารณาและทำหนังสือตีเรื่องกลับโดยให้ยืนยันผลชี้ขาดตามมติของ กยพ.

ระดับความรุนแรงของปัญหา : ระดับประเทศ
ผลกระทบของปัญหา   
ผลกระทบทางลบ
-ประชาชนที่สัญจรไปมาในย่านนั้นได้รับความเดือนร้อนเมื่อมีการชุมนุมประท้วงของอุเทนถวายเพื่อทวงคืนที่ดิน และประชาชนในพื้นที่หวาดกลัวต่อความไม่ปลอดภัย ทั้งการที่มีข่าวว่านักศึกษาของอุเทนถวายขู่ทำร้ายนิสิตจุฬา อาจจะทำให้เกิดการทะเลาะวิวาทกันระหว่างสองฝ่าย
-เนื่องจากสถาบันทั้งสองเป็นสถาบันที่มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง พอมีข่าวทำนองความขัดแย้งออกมาทำให้เป็นที่วิภาควิจารณ์ในสังคม ส่งผลกระทบในด้านลบของทั้งสองสถาบัน จากคนอื่นที่มองมาทำให้เสียชื่อเสียง
-ผลกระทบต่อการศึกษาของนักเรียน ด้านอุเทนถวายนักศึกษามีความเชื่อในตำนาน ความรักในศักดิ์ศรี เชื่อฟังรุ่นพี่ จึงอยากปกป้องสถาบันของตนเเต่ปกป้องไม่ถูกวิธี อาจทำให้เกิดเหตุการณ์ที่อันตรายได้ ด้านจุฬานิสิตหวาดระเเวง กลัวที่จะถูกทำร้าย เนื่องจากเป็นที่รู้กันดีอยู่แล้วว่าอุเทนถวายมีข่าวการทะเลาะวิวาทและยกพวกตีกันค่อนข้างบ่อยครั้ง  
แนวทางการแก้ไขปัญหา
กลุ่มเห็นด้วยกับข้อเสนอของคุ เดชา บุญค้ำ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ ผู้ก่อตั้งภาควิชาภูมิสถาปัตยกรรม ที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยดำรงตำแหน่งดำรงตำแหน่งอาจารย์โทในคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ รองคณบดีฝ่ายวิชาการ และตำแหน่งคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์
ที่ว่า ทั้งสองฝ่ายควรลดอัตตาอันแรงกล้าของตน ที่ยึดมั่นในความต้องการหรือเจตจำนงค์ในฝ่ายของตัวเอง ลดการมองปัญหาแค่ในแง่ของการสูญเสียผลประโยชน์ หันมาใส่ใจในความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกันที่เคยมีมา ให้ความสำคัญกับเกียรติและคุณค่าที่มีในตัวของอีกฝ่ายให้มากขึ้น คำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมว่านอกจากตัวเองแล้ว ใครได้อะไร หรือสูญเสียอะไรจากเหตุการณ์นี้ และสมควรแล้วหรือไม่ที่จะได้หรือเสียสิ่งเหล่านั้น การคำนึงถึงสิ่งเหล่านี้มากขึ้นอาจจะทำให้สามารถหาทางออกของปัญหาที่ทั้งสองฝ่ายต่างพึงพอใจได้ เช่น การที่จุฬาฯขอให้กรมธนารักษ์หาพื้นที่สำหรับการย้ายออกของอุเทนถวายไว้ให้ และรัฐบาลก็ได้เสนองบประมาณสนับสนุนการย้ายออกให้ถึง 200 ล้านบาท แต่เหตุใดอุเทนถวายจึงไม่รับข้อเสนอ ถ้าหาความจริงจากเหตุผลที่ยังคลุมเครือของแต่ละฝ่าย แก้ปัญหาและตอบสนองความต้องการของกันและกันแบบพบกันคนละครึ่งทางได้ ปัญหาน่าจะยุติลงได้    
กฎหมายที่ควรเกี่ยวข้อง
- กฎหมายว่าด้วยทรัพย์สิน

- กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และ ทรัพย์สินส่วนพระองค์

- พระราชบัญญัติ จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์

ความเห็นของสมาชิก
ณัฐจิตรา : จากการศึกษาข้อมูลที่ผ่านมา คิดว่าประเด็นความขัดแย้งนี้ เป็นเรื่องของการขัดผลประโยชน์ซึ่งกันและกัน มีข้อเท็จจริงเบื้องลึกเบื้องหลังที่คนภายนอกยังไม่รู้อีกมาก อาจจะเป็นการนำเหตุผลที่มีความหมายในเชิงมนุษยธรรมมากล่าวอ้างเพื่อปกปิดเหตุผลทางผลประโยชน์ที่แท้จริง การนำเอกสารทางประวัติศาสตร์ที่ผ่านมานานหลายสิบปีมาตีความ อาจทำให้เกิดความผิดพลาด และถ้าหากการตีความนั้นขึ้นอยู่กับอคติของผู้ตีความก็สามารถทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนหรือเอนเอียงไปทางฝ่ายของตน เพราะฉะนั้นเรื่องไหน ประเด็นไหนเป็นเรื่องจริงจึงไม่สามารถบอกได้แน่ชัด แต่ถ้าหากคิดว่า กฎหมายที่กำหนดให้ที่ดินผืนนั้นเป็นของจุฬาฯโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ถึงแม้กระบวนการที่ทำให้เกิดกฎหมายอันนั้นจะไม่โปร่งใส แต่ก็เป็นเพียงข้อสันนิษฐาน นั่นแปลว่า จุฬาฯมีสิทธิ์ในที่ดินนั้นอย่างชอบธรรม การจะดำเนินการใดๆย่อมสามารถทำได้ ถึงจะขัดกับหลักมนุษยธรรมละดูหน้าเลือด แต่ก็ยังเป็นสิทธิ์ของจุฬาฯ
วิชุดา : ถ้าพูดในแง่ของกฎหมายในเมื่อศาลมีคำพิพากษาออกมาแล้วว่ากรรมสิทธิ์ที่ดินนั้นเป็นของจุฬาอุเทนถวายก็ควรที่จะทำตาม พูดง่ายๆให้เข้าใจได้ง่ายก็คืออุเทนถวายเช่าที่ของจุฬา คนเช่าเองก็ต้องรู้อยู่แก่ใจแล้วว่าสัญญาเช่าจะหมดลงเมื่อไร ปีไหน เมื่อหมดสัญญาเช่าก็เป็นสิทธิ์อันชอบธรรมของเจ้าของว่าจะต่อสัญญาให้หรือไม่ อีกทั้งการไม่ต่อสัญญาจุฬาก็ได้แจ้งแก่อุเทนถวายมาเป็นเวลาหลายปี  ไม่ได้แจ้งวันนี้แล้วให้ย้ายออกพรุ่งนี้  นอกจากนี้กรมธนารักษ์ยังจัดหาพื้นที่รองรับให้แก่อุเทนถวาย จำนวน 36 ไร่ ที่ ต.บางปิ้ง อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ ที่อุเทนถวายยังไม่ยอมย้ายไปเพราะเรื่องของความเชื่อ ศักดิ์ศรี รุ่นพี่รุ่นน้อง อ้างถึงแต่เรื่องความชอบธรรม อ้างถึงตำนานของสถาบัน  ถ้ายังเป็นอยู่แบบนี้ไม่ว่าจะหาทางออกใดก็ไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้  และปัญหานี้ก็ไม่รู้จะสิ้นสุดลงเมื่อใด
สนิตรา : ด้วยทั้งสองสถาบันเป็นสถาบันที่ขึ้นชื่อ จุฬา เราจะรู้จักกันว่าเป็นสถาบันที่มีเกียรติคนที่จบมาก็เป็นคนที่ดีและเก่งมาก ส่วนอุเทนถวายเป็นโรงเรียนด้านการช่างชื่อดังแม้จะมีชื่อเสียงในการสร้างเรื่องทะเลาะและความรุนแรงอยู่บ่อยครั้ง แต่ในเรื่องศักดิ์ศรีนั้นรักเป็นอย่างมาก ไม่ยอมใครง่ายๆ เช่นเดียวกับตอนนี้ที่กำลังไม่ยอมจุฬาในประเด็นความขัดแย้งเรื่องที่ดินที่จุฬาใช้สิทธิ์ หลักฐานแสดงว่าตนเป็นเจ้าของที่และกลับมาทวงคืนเพื่อนำไปสร้างศูนย์นวัตกรรมงานสร้างสรรค์เพื่อชุมชนยั่งยืน เป็นปัญหาที่ยืดเยื้อมานานแล้ว ในชั้นศาลก็ได้ตัดสินแล้วว่าจุฬาเป็นเจ้าของที่ดินมีการเตรียมที่ดินที่จะรองรับอุเทนที่สมุทรปราการ แต่ในปัจจุบันอุเทนก็ไม่ย้ายออกไป ในเรื่องของผลประโยชน์ต่อที่ดินผืนนี้ก็เป็นอีกสาเหตุนึงนึงที่ทำให้ประเด็นความขัดแย้งหาทางออกได้ยากขึ้น ทางออกของปัญหาคือต้องมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งยอมอาจจะให้อุเทนย้ายออกไปที่สมุทรปราการ แต่ก็ต้องใช้เวลาและงบประมาณในการก่อสร้างขนย้ายอย่างมาก หรือ อาจจะให้จุฬายกที่ดินให้อุเทน ซึ่งจุฬาก็มีแผนที่จะสร้างศูนย์นวัตกรรมงานสร้างสรรค์เพื่อชุมชนยั่งยืนอยู่แล้ว ทั้งสองคงจะไม่ยอม จากกรณีที่เดชา บุญค้ำ เสนอทางออกหนูว่าก็น่าสนใจมากทีเดียวที่ ให้จุฬาจัดตั้งสำนักวิชานวกรรมศาสตร์ (เทียบเท่าคณะวิชา) ขึ้นในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และโอนวิทยาลัยก่อสร้างอุเทนถวาย (ชื่อเดิม) มาอยู่ในสำนักวิชานี้ และใช้ชื่อว่า สำนักวิชานวกรรมศาสตร์อุเทนถวายแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย น่าจะเป็นทางออกที่ดี แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็อยู่ที่ทั้งสองฝ่ายว่าจะมีข้อเสนอ ข้อต่อรองกันอย่างไร ต้องดูต่อไปว่าทางออกไหนที่จะจัดการความขัดแย้งนี้ได้อย่างสมศักดิ์ศรีของทั้งสองสถาบัน
นริศรา : กรณีความขัดแย้งกันของ จุฬาฯ กับ อุเทนถวาย จากความคิดเห็นส่วนตัวคิดว่า ในส่วนลึกๆ นั้นเป็นปัญหาเกี่ยวกับผลประโยชน์ทั้งสิ้น สามารถพูดง่ายๆ เลยว่าปัญหาจะไม่เกิดถ้าทาง จุฬาฯ ไม่มีโครงการสร้าง "ศูนย์นวัตกรรมงานสร้างสรรค์เพื่อชุมชนอย่างยั่งยืน" โดยพื้นที่ที่ต้องการสร้างนั้นไปครอบคลุมในส่วนของ อุเทนถวาย เพราะก่อนหน้านั้นหลายสิบปีไม่มีปัญหาการขัดแย้งอะไรกัน อยู่กันมาแบบพี่แบบน้อง ตลอดจนปัจจุบันเกิดกรณีขัดแย้งกันเรื่องพื้นที่ ทั้งสองฝ่ายต่างก็ได้อ้างกรรมสิทธิ์ในที่ดินเพื่อแสดงว่าตนมีสิทธิ์ในที่ดินผืนนั้นๆ เอกสารที่นำมาอ้างนั้นเป็นเอกสารทางประวัติศาสตร์มีอายุเป็นร้อยปีแล้วอาจทำให้ข้อมูลต่างๆ นั้นคลาดเคลื่อน บางข้อมูลอาจไม่ถูกต้องที่สุด และ ขึ้นอยู่กับทัศนะคติของแต่ละบุคคลที่มีกับสถาบันการศึกษาทั้งสองด้วย ส่วนในทางด้านกฏหมายนั้นได้ตัดสินว่า จุฬาฯ เป็นเจ้าของพื้นที่นั้นๆ จากหลักฐานกรรมสิทธิ์ที่ดินที่มีความชัดเจนกว่าทาง อุเทนถวาย จึงเป็นสิทธิ์ของทาง จุฬาฯ ที่สามารถกระทำการใดๆ ได้อย่างเต็มที่ในพื้นที่ของตนเอง
ชลิต : ในส่วนเอกสารต่างๆที่ทั้ง 2 ฝ่ายได้นำมาอ้างกัน ยังมีเอกสารที่ยังเก็บเป็นความลับเพื่อใช้ในการต่อสู้กัน แต่ในเมื่อจุฬาฯ มีหลักฐานที่สามารถแสดงได้ว่า พื้นที่ตรงนี้เป็นที่ดินของจุฬาจริง ฝ่ายอุเทนถวายก็ต้องยอมยกที่ดินคืนแก่จุฬาฯ เพราะการต่อสู้ในด้านกฎหมายนั้น ฝ่ายจุฬาฯเป็นผู้ชนะอยู่แล้ว หลายฝ่ายที่มีส่วนร่วมในการเจรจาก็ลงความเห็นแล้วว่าอุเทนถวายต้องคืนพื้นที่ให้แก่จุฬาฯ ที่จุฬาฯไม่สามารถยึดที่ดินคืนได้นั้น อาจเป็นเพราะกฎหมู่ของฝั่งอุเทนถวายที่ฝ่ายจุฬาฯเอาชนะได้ยาก ถ้าอุเทนถวายยังใช้คำพูดในลักษณะที่ว่า "ร.6 พระราชทานที่ดินพื้นนี้ให้เพื่อการศึกษา" ก็เหมือนเป็นการใช้ข้ออ้างเพื่อไม่ให้เจ้าของที่ดินใช้กฎหมายในการยึดพื้นที่คืน เพราะในสังคมไทยให้ความเคารพในสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่แล้ว ผมเชื่อว่า ร.6 นั้นอยากให้พื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่เพื่อการศึกษาจริง เพราะมีสถานศึกษาอยู่ถึง 2 แห่ง แต่ในเมื่อที่ดินดังกล่าวมีเจ้าของแล้วนั้น ผู้เป็นเจ้าของย่อมมีสิทธิ์ดำเนินการต่างๆได้ แม้การได้ที่ดินมาของจุฬาฯนั้นจะโปร่งใสหรือไม่ก็ตาม จุฬาฯก็มีเอกสารความเป็นเจ้าของ ในส่วนของข้อเสนอของ อ.เดชา เป็นข้อเสนอที่ดี ฝ่ายบริหารของอุเทนถวายอาจตกลงเพื่อให้ปัญหาดังกล่าวจบลง แต่ถ้าฝ่ายนักศึกษาของอุเทนถวายรักศักดิ์ศรีจริง ก็เป็นการยากที่จะยอมโอนวิทยาลัยมาอยู่ในสำนักวิชานวัตกรรมศาสตร์อุเทนถวายแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพราะคงไม่ยอมตกเป็นเมืองขึ้นของใคร
ที่มาเพิ่มเติม
http://th.wikipedia.org/wiki/เดชา_บุญค้ำ
http://www.scribd.com/doc/37049715/กฎหมายทรัพย์สิน
สมาชิกกลุ่ม
1. นางสาวณัฐจิตรา เทาสกุล                รหัสนิสิต 54020188
2. นางสาวสนิตรา โพธิ์หิรัญ                  รหัสนิสิต 54020430
3. นางสาวนริศรา ทรงยศ รหัสนิสิต 54020629
4. นายชลิต ชังปลื้ม                             รหัสนิสิต 54021026
5. นางสาววิชุดา เดชา                          รหัสนิสิต 54021030

กรณีความขัดแย้งจุฬา-อุเทน 2




อุเทนชุมนุมยื่นเอกสารประวัติศาสตร์ให้จุฬาฯ
วันที่ 15 มีนาคม 2556 ศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบันอุเทนถวายต่างตบเท้ามารวมพลภายในอุเทนถวาย เพื่อแสดงพลังทวงคืนที่ดินจากจุฬาฯ
เวลา 11.00 น.กลุ่มศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบัน ประมาณ 50 คน เดินทางมาชุมนุมที่หน้ากระทรวงศึกษาธิการ เพื่อยื่นหนังสือขอให้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่อุเทนถวายและขอให้ตั้งอยู่ที่เดิม
เวลา 11.30 น. นักศึกษาอุเทนถวายได้ชี้แจงเส้นทางเดินขบวนให้เจ้าหน้าที่รับทราบเพื่อขอให้อำนวยความสะดวก โดยยืนยันไม่สร้างความเดือดร้อนต่อประชาชน และจะใช้พื้นที่เกาะกลางหน้าสำนักงานทรัพย์สินจุฬาฯ ขณะเดียวกันจะยื่นหนังสือเปิดผนึกถึงจุฬาฯด้วย
เวลา 12.30 น. ที่อาคารจามจุรี 3 ศ.น.พ.ภิรมย์ พร้อมคณะผู้บริหาร เปิดแถลงข่าวโดยระบุว่า แนวทางในการแก้ปัญหา ต้องมีการเจรจาร่วมกันทั้ง 3 ฝ่าย คือ ศธ. จุฬาฯ และอุเทนถวาย โดยเชื่อว่าหากอุเทนถวายมีที่ใหม่ที่ดีกว่าเดิม และใกล้กับภาคอุตสาหกรรมน่าจะยินดีขยับขยาย
เวลา 13.00 น.ศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบันกว่า 2,000 คน จึงเดินขบวนโดยใช้พื้นที่บริเวณถนนพญาไทขาเข้า ฝั่งด้านหน้าจุฬาฯ มายังบริเวณหน้าสำนักงานอธิการบดี และอาคารสำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาฯ พร้อมใช้รถบรรทุกติดตั้งเครื่องกระจายเสียงปราศรัย จากนั้นตัวแทนศิษย์เก่าและนายลิขิต จิตประวัติ นักศึกษาชั้นปี 2 คณะวิศวกรรมศาสตร์ ในฐานะนายกสโมสรนักศึกษาอุเทนถวาย ตัวแทนศิษย์ปัจจุบัน เข้ายื่นหนังสือเรียกร้องขอความเป็นธรรมในกรรมสิทธิ์ที่ดินของอุเทนถวาย โดยมี น.พ.เจษฎา แสงสุพรรณ รองอธิการบดีฝ่ายบริหารจุฬาฯ เป็นตัวแทนรับหนังสือ
เวลา 14.40 น. กลุ่มศิษย์เก่าฯได้ประกาศยุติการชุมนุมและได้ขอให้ผู้บริหารจุฬาฯ พิจารณาข้อเรียกร้องที่อุเทนถวายนำมาเสนอ หากยังไม่มีความเปลี่ยนแปลง ครั้งต่อไปอุเทนถวายก็จะยกระดับการชุมนุม เพื่อยืนยันในข้อเรียกร้องเดิมต่อไป

วันที่ 26 มีนาคม 2556 จุฬาฯ ได้จัดงานเสวนาเนื่องในวันสถาปนามหาวิทยาลัย ครบรอบ 96 ปี เรื่อง "จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยใต้ร่มพระราชปณิธานพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว" ซึ่งการเสวนาในครั้งนี้ถึงอธิการบดีจุฬาฯ จะยืนยันว่า ไม่ได้มีเป้าหมายจะนำเรื่องประวัติศาสตร์มาเป็นข้อโต้แย้งกรณีการถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดินกับอุเทนถวาย นายสุเนตร ชุตินธรานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ กล่าวตอนหนึ่งในงานเสวนาว่า ร.6 ได้พระราชทานพื้นที่ในเขต ต.ปทุมวัน ให้แก่จุฬาฯ โดยมีพระราชประสงค์ให้มหาวิทยาลัยได้ใช้พื้นที่เป็นการถาวร โดยมีหลักฐานปรากฎในจารึกกระแสพระบรมราชโองการที่บรรจุไว้ในศิลาพระฤกษ์ตึกบัญชาการ พร้อมด้วยรูปถ่ายโรงเรียนและแผนที่อาณาเขตโรงเรียน ลงวันที่ 3 มกราคม 2458 ต่อมาในสมัย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้อรรถาธิบายว่า พระประสงค์ในการพระราชทานที่ดินอันกว้างขวางแก่จุฬาฯนั้น ทรงเล็งเห็นว่า ต่อไปที่ดินจะมีความเจริญในทางการค้า จึงพระราชทานไว้แก่มหาวิทยาลัยเพื่อหาประโยชน์ เป็นรายได้แก่มหาวิทยาลัย ด้วยเหตุนี้จึงเห็นว่าการที่จุฬาฯ ใช้ที่ดินที่ได้รับพระราชทานไว้ในการหารายได้ ด้วยการสร้างศูนย์การค้าหรืออาคารพาณิชย์ ไม่ทิ้งไว้ให้อยู่เปล่านั้น เป็นการปฏิบัติตามพระราชดำริและตรงตามพระราชประสงค์อยู่แล้ว
วันที่ 13 มิถุนายน 2556 อุเทนถวายจึงเปิดแถลงหลักฐานข้อมูลโต้จุฬาฯ ภายใต้ชื่อ “ทวงกรรมสิทธิ์ที่ดินพระราชทาน” พร้อมชู 4 ประเด็นหลักเน้นแก้ข้อกล่าวหา โดยกลุ่มศิษย์เก่า ศิษย์ปัจจุบัน และสโมสรนักศึกษาอุเทนถวาย ได้ตั้งกลุ่มที่ใช้ชื่อว่า “คณะพิทักษ์สิทธิ์เพื่อการศึกษาอุเทนถวาย (คพศ.)” เพื่อทำหน้าที่สืบเสาะแสวงหาข้อมูลหลักฐานที่เป็นประโยชน์ต่ออุเทนถวาย เพื่อชี้แจงข้อมูลข้อเท็จจริงให้สังคมรับรู้ และดึงกระแสความชอบธรรมกลับมาอยู่ที่ฟากฝั่งพวกเขาบ้าง เนื้อหาที่ คพศ.นำมาแถลงสรุปได้ว่า อุเทนถวายก่อตั้งตามพระราชดำริของ ร.6 ตั้งแต่ปี พ.ศ.2465 โดยมีหลักฐานยืนยันว่า ร.6 ได้พระราชทานเงินการพระราชกุศลถาวรวัตถุสำหรับงานพระเมรุ สมเด็จกระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราชัย จำนวน 10,000 บาท ให้สร้างโรงเรียนนักเรียนเพาะช่าง ซึ่งที่ผ่านมาอุเทนถวาย ไม่เคยทำผิดในเจตจำนงค์ด้านการศึกษา ดังนั้นอุเทนถวายจะย้ายไป ก็ต่อเมื่อกระทำการใด ๆ กับที่ดินผืนนี้ โดยขัดพระราชประสงค์ ร.6 ที่ไม่ใช่ที่ดินเพื่อการศึกษา นอกจากนี้ คพศ.ยังชี้แจงกรณี กยพ.ชี้ขาดให้สิทธิ์ที่ดินเป็นของจุฬาฯ ว่า จริง ๆ แล้วอุเทนถวายมีความชอบธรรมที่จะอยู่ตรงนี้ต่อไป เพราะเป็นโรงเรียนที่เกิดขึ้นพร้อมจุฬาฯ ได้รับพระราชทานให้ก่อตั้งจากรัชกาลที่ 6 เช่นเดียวกับจุฬาฯ ที่สำคัญทั้งสองสถาบันมีความเชื่อมโยงกัน เพราะนักศึกษาสถาปัตยกรรมศาสตร์ของจุฬาฯ 5 รุ่นแรก คือศิษย์เก่าของอุเทนฯที่จบจากวิชาช่างแผนกแบบแปลน และรับเหมาก่อสร้าง โดยผู้ที่ร่างหลักสูตรให้คณะสถาปัตย์ จุฬาฯ


สำหรับประเด็นที่ คพศ. สืบค้นข้อมูลมามี 4 ประเด็นคือ
ประเด็นที่ 1 ประวัติการก่อตั้งโรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวาย
หากจะกล่าวว่า “โรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวาย ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ.2475” เห็นจะไม่ถูกต้องเสียทีเดียว เพราะแท้จริงมีต้นกำเนิดมาจากโรงเรียนฝึกหัดการหัตถกรรม พ.ศ.2456 ที่ได้รับโปรดเกล้าพระราชทานนามจากรัชกาลที่ 6 ว่า “โรงเรียนเพาะช่าง” ครั้งนั้นมีพระดำรัสความตอนหนึ่งว่า  “...เราเคยปรารภกับเจ้าพระยาพระเสด็จและผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องด้วยการศึกษา ที่จะใช้วิชาช่างของเราตั้งขึ้นใหม่จากพื้นเดิมของเราแล้ว และขยายให้แตกกิ่งก้านสาขางอกงามยิ่งขึ้น เปรียบเหมือนเอาพันธุ์พืช ของเราเองมาปลูกลงในพื้นแผ่นดินของเรา เอาพันธุ์ไม้ต่างประเทศมาปลูกลงในพื้นแผ่นดินของเราอันไม่เหมาะกัน โดยประสงค์เช่นนี้ เมื่อเจ้าพระยาเสด็จมาขอชื่อโรงเรียน เราระลึกผูกพันอยู่ในความเปรียบเทียบกับต้นไม้ดังกล่าวนี้ เราจึงได้ให้ชื่อโรงเรียนนี้ว่า โรงเรียนเพาะช่าง...”
โรงเรียนเปิดสอนวิชาหัตกรรมไทยมาแต่แรกตั้ง มีสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราชัย ทรงเป็นที่ปรึกษา ตั้งแต่ปี พ.ศ.2462 และทรงเป็นผู้บัญชาการโรงเรียนเพาะช่าง ตั้งแต่ พ.ศ.2465 กระทั่งสิ้นพระชนม์ “พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเงินการพระราชกุศลถาวรวัตถุ สำหรับงานพระเมรุ ท้องสนามหลวง คราวนี้ เป็นเงิน 10,000 บาท ให้สร้างโรงงานนักเรียนเพาะช่าง ทรงพระราชอุทิศพระราชทานแด่ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราชัย” โรงงานนักเรียนเพาะช่าง ที่ทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นนี้ ตั้งอยู่บริเวณอุเทนถวายปัจจุบัน
เมื่อคณะราษฎรยึดอำนาจ และเปลี่ยนแปลงการปกครองในวันที่ 24 มิถุนายน 2475ต่อมาเดือนตุลาคม 2475 เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี ได้มีคำสั่งเรื่องตั้งโรงเรียนวิสามัญศึกษาช่างก่อสร้าง ว่า .........บัดนี้ถึงเวลาสมควรที่จะตั้งโรงเรียนช่างก่อสร้างขึ้น เพื่อเป็นโรงเรียนฝึกหัดวิชาชีพต่อไป เพราะฉะนั้นให้ตั้งโรงเรียน วิสามัญศึกษาขึ้นที่โรงงานของโรงเรียนเพาะช่าง ถนนพญาไท เชิงสะพานอุเทนถวาย ตำบลถนนพญาไท โรงหนึ่ง ให้ชื่อว่า “โรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวาย” และขึ้นแขวงวิสามัญ กับให้มีกรรมการจัดการโรงเรียนขึ้นคณะหนึ่ง ทั้งนี้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ซึ่งได้ลงนามตั้งแต่วันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ.2475 โดยเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี ซึ่งเป็นเสนาบดีในตอนนั้น
โรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวายมีการพัฒนาเจริญก้าวหน้าโดยลำดับดังนี้
พ.ศ.2517 กระทรวงศึกษาธิการ ประกาศยกฐานะเป็นวิทยาลัยอุเทนถวาย
พ.ศ.2518 โอนเข้าสังกัดวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา เป็นวิทยาเขตอุเทนถวาย
พ.ศ.2531 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เป็นสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตอุเทนถวาย

พ.ศ.2548 เปลี่ยนสถานภาพเป็นมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย


ประเด็นที่ 2 ชี้แจง “หนังสือส่งเงินเช่าที่ดิน พ.ศ.2478”
โดยเอกสารที่สำนักจัดการทรัพย์สินแห่งจุฬาฯ ยกมากล่าวอ้างนั้น  คพศ. ตั้งข้อสังเกตจากเอกสารดังกล่าว 3 ข้อ คือ
2.1 เหตุใดเอกสารไม่ระบุตำแหน่งสถานที่ตั้งของที่เช่า และทำไมไม่ระบุจำนวนพื้นที่เช่า ซึ่งต้องตั้งคำถามย้อนกลับไปที่สำนักจัดการทรัพย์สินจุฬาฯ ว่า พื้นที่ตรงส่วนไหนและจำนวนเท่าไร
2.2 ทำไม “หนังสือส่งเงินเช่าที่ดิน พ.ศ.2478” ที่ สำนักจัดการทรัพย์สินจุฬาฯ นำเข้ากระบวนการไต่สวน และผ่านมติ กยพ. ดังปรากฎอยู่ในรายงานการประชุม และที่เปิดเผยต่อสาธารณชน ถึงเป็น “เอกสารแค่ฉบับเดียวที่นำมาใช้” แล้วฉบับก่อนหน้านั้น คือสัญญาเช่าหลัก ที่ระบุสถานที่ตั้ง ขนาดพื้นที่เช่า ระยะเวลาเช่า ซึ่ง สำนักจัดการทรัพย์สินจุฬาฯ ไม่เคยพูดถึงเลย


ประเด็นที่ 3 ชี้แจง “หนังสือเซ็นตกลงขนย้าย และส่งมอบพื้นที่ลงวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2547”
ในช่วงที่เซ็นบันทึกข้อตกลงในปี 2547 นั้น นายทวีชัย เหลี่ยมศิริวัฒนา เพิ่งดำรงตำแหน่งรักษาการผู้อำนวยการ วิทยาเขตอุเทนถวาย เป็นปีแรก โดยไม่มีการนำข้อตกลงดังกล่าวเสนอต่อสภาคณาจารย์ ศิษย์เก่า และศิษย์ปัจจุบัน เพื่อรับรองมติเลย กระทำไปลุแก่อำนาจปิดบังซ้อนเร้นบันทึกสัญญา
คพศ. ตั้งข้อสังเกตว่า หากพิจารณาหนังสือ สัญญาเช่าช่วง ก่อนหน้านี้ คือเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ.2545 จะเห็นข้อความว่า....
“ข้อ 1. ผู้ให้เช่าตกลงให้เช่า ผู้เช่าตกลงเช่าที่ดินบางส่วนของที่ดินโฉนดเลขที่ 2059 เนื้อที่ประมาณ 33,316.34 ตารางเมตร ซึ่งตั้งอยู่ที่ถนนพญาไท ใกล้เคียงโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา แขวงปทุมวัน กรุงเทพมหานคร ปรากฎรายละเอียดตามแผนผัง แนบท้ายสัญญานี้”


หากดูหนังสือสัญญาเช่าช่วง ลงวันที่ 11 มีนาคม 2547 จะพบความต่างแสดงให้เห็นว่า...

ข้อ 1. “สถาบัน” ตกลงขนย้ายและส่งมอบพื้นที่เช่าคืนให้แก่ “มหาวิทยาลัย” ภายในวันที่ 30 เดือนกันยายน 2548 ...........และวรรคต่อมาว่า..................หากมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ “สถาบัน” ไม่สามารถขนย้ายและส่งมอบพื้นที่เช่า ได้ภายในกำหนดเวลาดังกล่าวข้างต้น “มหาวิทยาลัย” จะพิจารณาผ่อนผันระยะเวลาการใช้สถานที่ให้ตามความจำเป็น แต่ทั้งนี้ไม่เกินระยะเวลา 1 ปี” โดยเรื่องบันทึกข้อตกลงดังกล่าว คณาจารย์ ศิษย์เก่า และศิษย์ปัจจุบัน ไม่เคยรู้เห็นกับการทำบันทึกข้อตกลงนี้ จวบจนเมื่อทราบเรื่องจึงได้ร่วมกันร้องขอความเป็นธรรมต่อรักษาการผู้อำนวยการวิทยาเขตอุเทนถวาย จนนำมาสู่บันทึกข้อตกลง 21 มีนาคม 2548  โดยสาระสำคัญของหนังสือฉบับนี้คือ

3.1 กระทำเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2547 ไม่ถูกต้อง ไม่ชอบธรรม ขอให้ทำหนังสือยกเลิกบันทึกข้อตกลงดังกล่าว

3.2 ให้ทำหนังสือตอบเรื่องถวายฎีกา และต้องเปิดเผยข้อความทั้งหมด

3.3 หนังสือที่เกี่ยวข้องกับวิทยาเขตอุเทนถวายในเรื่องการย้าย จะต้องเปิดเผยทุกเรื่องก่อนลงนามด้วยเหตุนี้ จึงนำมาสู่หนังสือ วันที่ 10 มิถุนายน 2548 เรื่อง ขอยกเลิกบันทึกข้อตกลงระหว่าง “จุฬาฯ” กับ “มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย” ฉบับลงวันที่ 11 มีนาคม 2547



ประเด็นที่ 4 ชี้แจงประเด็นที่อ้างมติชี้ขาดตามรายงานประชุม กยพ.

“วิทยาเขตอุเทนถวาย” ไม่เคยได้มีส่วนร่วมในการไต่สวนและชี้แจงรายละเอียดต่อ คณะกรรมการพิจารณาชี้ขาดการยุติในการดำเนินคดีแพ่งของส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (กยพ.) โดยประเด็นที่ชี้ขาดคือ ความเป็นเจ้าของที่ดินตามกฎหมาย แต่วิทยาเขตอุเทนถวายพูดถึงความชอบธรรมในการอยู่ในพื้นที่ ตามพระราชประสงค์ของรัชกาลที่ 6ที่ทรงบริจาคเงิน 10,000 บาท เพื่อสร้างถวายแด่พระเจ้าจุฑาธุชธราดิลก ซึ่งทางเรากำลังเรียกร้องประเด็นนี้

ส่วนเรื่องการยื่นฎีกา ครั้งที่ 2 สำนักราชเลขาธิการ ตีเรื่องกลับและยืนตามคำวินิจฉัยของ กยพ. โดยที่การยื่นถวายฎีกาทั้ง 2 ครั้งยังไม่เคยมีพระบรมราชวินิจฉัยลงมาเลย


บทความเพิ่มเติม
ศึก"อุเทนฯ-"จุฬา" ปมที่ต้องแก้...
ความขัดแย้งการบริหารจัดการทรัพย์สิน ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและอุเทนถวายฯ แม้ว่าจะยืดเยื้อมานานกว่า 10 ปี ตั้งแต่การเริ่มปี 2546 แต่ล่าสุดดูจะรุนแรงมากขึ้นเพราะการยืนยันหนักแน่นของ ศ.นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดีจุฬาฯเป็นวาระที่ 2  ที่จะนำเอาที่ดิน21 ไร่ซึ่งเป็นที่ตั้งของอุเทนถวายคืนมาเพื่อดำเนินการตามผังแม่บทปี 2559 ได้มีการกำหนดพื้นที่ฝั่งถนนพญาไท เป็นพื้นที่การศึกษา ซึ่งในส่วนของที่ตั้งอุเทนถวาย 21 ไร่ ที่จะได้รับคืนโดยกำหนดเป็นพื้นที่การศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ ที่มีความสำคัญในอนาคต ประกอบด้วย การจัดสร้างศูนย์นวัตกรรมสร้างสรรค์เพื่อชุมชนยั่งยืน 5 หน่วยงาน ได้แก่ หน่วยวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้งานสร้างสรรค์ หน่วยข้อมูลด้านนวัตกรรมงานสร้างสรรค์ หน่วยเผยแพร่นวัตกรรมงานสร้างสรรค์ หน่วยบ่มเพาะเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ และหน่วยพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ด้านนวัตกรรมสร้างสรรค์
นอกจากนี้จะสร้างพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้เพื่อสังคม และจัดตั้งคณะเทคโนโลยีอาหาร เพื่อพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อทำให้เกิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์
จุฬาลงกรณ์ ถือเป็นแลนด์ลอร์ดที่ได้รับพระราชทานที่ดินจากองค์รัชกาลที่ 5และที่ 6 ปัจจุบันถือครองที่ดินรวม พื้นที่ 1153 ไร่ โดยแบ่งพื้นที่ออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ 1. เขตพื้นที่การศึกษา สัดส่วน ร้อยละ52 โดยมีการขยายตัวตามการเติบโตของมหาวิทยาลัย อย่างเป็นพื้นที่ของศศินทร์ และคณะเภสัชศาสตร์ เดิมเมื่อปี2512 ก็เคยเป็นพื้นที่เช่ามาก่อน

2..เขตพื้นที่พาณิชย์ (ปล่อยเช่าเอกชน)ประมาณ ร้อยละ30ของพื้นที่ทั้งหมดเช่นสยามสแคว์ มาบุญครอง ตึกแถวสวนหลวง สามย่าน บริเวณถนนบรรทัด บริเวณสวนหลวง-สามย่าน และ3 เขตพื้นที่ราชการ (ให้ราชการเช่าราคาพิเศษและยืมใช้)อีกประมาณ 18% คือโรงเรียนปทุมวัน ม.อุเทนถวาย สน.ปทุมวัน ศูนย์ราชการสาธารณสุข กทม . สนามกีฬา โรงเรียนเตรียมอุดม โรงเรียนสาธิตปทุมวัน
ไม่เพียงอุเทนฯที่สำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะขอคืนที่ดินหากรวมหน่วยงานราชการในสังกัดกทม.รวม 4 แห่ง ประกอบด้วย สำนักงานเขตปทุมวัน ศูนย์บริการสาธารณสุข สถานีดับเพลิง และโรงเรียนปทุมวันแต่ความขัดแย้งในส่วนพื้นที่อื่นๆดูจะไม่รุนแรงและบานปลายเช่นเดียวกับ กรณีอุเทนถวายที่ทั้งศิษย์เก่า ศิษย์ปัจจุบันต่างรวมตัวกันเรียกร้องที่ดินคืนเพราะหากนับรวมประวัติศาสตร์อุเทนถวายถือเป็นโรงเรียนช่างแห่งแรกของประเทศที่มีมานานเกือบ 100 ปี
แม้จุฬาฯจะอ้างถึงข้อยุติทางกฎหมายดูจะหมดข้อกังขาว่าใครคือเจ้าของที่ดิน แต่ในแง่ของประวัติศาสตร์ คุณค่าของสถาบันการศึกษาที่เก่าแก่จึงน่าจะเป็นปัจจัยหนึ่งในการพิจารณาพอๆกับที่จุฬาฯบอกว่าจะนำเอาพื้นที่จำนวน 21 ไร่แห่งนี้ไปจัดทำเป็นศูนย์การศึกษาเพื่อประโยชน์สาธารณะ
ปมในการตัดสินใจครั้งนี้ อุเทนถวายควรจะย้ายหรือไม่นั้นจึงควรนำเอาคุณค่าทางประวัติศาสตร์ที่มีมายาวนานกว่า 80 ปีมาประมวลร่วมด้วย ไม่เพียงตัดสินเพียงแค่ข้อกฎหมายและแผนการดำเนินการพัฒนามหาวิทยาลัยที่เหมาะสมแต่เพียงอย่างเดียว

กรณี “อุเทนถวาย” โปรดฟังอีกครั้งหนึ่ง

การจะวิจารณ์อะไรมากไปคิดว่าไม่น่าจะเหมาะ เพราะผมเป็นสมาชิกของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเต็มตัวในฐานะทั้งศิษย์เก่าและครูบาอาจารย์ แต่เมื่อวันก่อนรับซองเงินเดือนพร้อมด้วยเอกสารเปิดผนึกแนบมาหนึ่งฉบับ (จุฬาสัมพันธ์ ฉบับพิเศษ) เป็นการไขข้องใจกรณีจดหมายจากสโมสรนักศึกษา มทร. ตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย เรื่อง ขอให้จุฬาฯ โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินคืนให้แก่โรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวาย ซึ่งผมขออนุญาตนำสาระสำคัญ 5 ข้อ แบบสรุปเรื่องที่มีการแถลงให้ประชาคมจุฬาฯ ทราบ มาเผยแพร่ให้สาธารณชนได้รับรู้ทั่วกันเพื่อความชัดเจนทั้งในบริบทของกฎหมายและข้อมูลต่างๆ ที่รับรู้จากสื่อกันเป็นส่วนใหญ่

ประการแรก การที่อุเทนถวายฯ อ้างพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวที่จะสืบทอดพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งทรงห่วงใยในศิลปะการช่างของไทยว่าจะถูกต่างชาติเข้าครอบงำนั้นเป็นที่มาของการก่อตั้ง “โรงเรียนเพาะช่าง” ในปี 2456 มิใช่ที่มาของ “โรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวาย” ซึ่งเกิดขึ้นในปี 2475

ประการที่สอง การอ้างว่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานที่ดินให้แก่โรงเรียนก่อสร้างอุเทนถวายก่อน พ.ร.บ. โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่จุฬาฯ ในปี 2482 โดยอ้างอิงหนังสือหอรัษฎากรพิพัฒน์และหนังสือกระทรวงวัง มีความคลาดเคลื่อน เพราะทั้งสองฉบับปรากฏแต่เพียงว่าเป็นการพระราชทานเงินเพื่อสร้าง “โรงเรียนนักเรียนเพาะช่าง” ไม่มีการอ้างไปถึงสิทธิ์ในที่ดินแต่อย่างใด

ประการที่สาม ทางอุเทนถวายอ้างว่า ที่ดินบนที่ตั้งของวิทยาเขตอุเทนถวายไม่เป็นส่วนหนึ่งของที่ดินแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนั้น ทางจุฬาฯ ได้ชี้แจงโดยการนำแนวเขตที่ดินซึ่งสามารถระบุได้ชัดเจนว่าครอบคลุมพื้นที่ของวิทยาเขตอุเทนถวาย โดยเฉพาะด้านทิศเหนือจดถนนสระประทุม ทิศตะวันออกยาวไปถึงสนามม้า เป็นต้น
ประการที่สี่ การอ้างหนังสือคำสั่งกระทรวงธรรมการ เรื่องตั้งโรงเรียนวิสามัญศึกษาช่างก่อสร้างนั้น เอกสารดังกล่าวกล่าวถึงที่ตั้งของโรงเรียนเท่านั้นมิได้มีการระบุเรื่องการมอบกรรมสิทธิ์ที่ดิน เพราะอยู่นอกเหนืออำนาจเสนาบดี จึงมิใช่เอกสารเกี่ยวกับสิทธิ์ในที่ดิน
ประการที่ห้า การตราพระราชบัญญัติ โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ตำบลปทุมวัน อำเภอปทุมวัน จังหวัดพระนคร ให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2482 ซึ่งส่งผลทางกฎหมายให้มหาวิทยาลัยมีสิทธิ์โดยชอบธรรมในการถือกรรมสิทธิ์และมีอำนาจจัดการที่ดินผืนดังกล่าวอย่างถูกต้อง
นอกจากทั้งห้าประเด็นสำคัญแล้ว ทางจุฬาฯ ยังได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า “คณะกรรมการพิจารณาชี้ขาดการยุติการดำเนินคดีแพ่งของส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (กยพ.)” ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่โดยตรงได้พิจารณาเรื่องนี้อย่างรอบคอบและมีมติให้อุเทนถวายขนย้ายและส่งมอบพื้นที่ดินให้กับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมาตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2549 โดยคณะรัฐมนตรีได้รับทราบความเห็นดังกล่าวเมื่อ 30 มีนาคม 2553 และการถวายฎีกาของตัวแทนฝ่ายอุเทนถวาย ทางสำนักราชเลขาธิการแจ้งให้เป็นไปตามคำวินิจฉัยฯ ของ กยพ. เมื่อ 4 กุมภาพันธ์ 2554
นั่นคือ ข้อมูลความจริงที่ปรากฏในเอกสารซึ่งผมได้รับมาและพยายามสรุปสาระสำคัญที่น่าจะเป็นประโยชน์ในการทำความเข้าใจต่อคนส่วนใหญ่ ส่วนตัวผมขอชื่นชม “คณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยชุดปัจจุบันที่ดำเนินการเรื่องนี้อย่างเปิดเผยตรงไปตรงมา” ซึ่งบางทีคนจำนวนหนึ่งอ่านเรื่องราวผ่านสื่อ หรือมีใจโน้มเอียงมีอคติก็อาจไม่เข้าใจในหลายสิ่งหลายอย่างซึ่งปรากฏชัดแจ้งดังถ้อยแถลงของจุฬาฯ สิ่งที่ผมอยากให้สังคมนี้เรียนรู้ในการอยู่ร่วมกัน คือ การอยู่ร่วมกันบนพื้นฐานของการเคารพกฎหมายที่ผ่านกระบวนการมาอย่างถูกต้องชอบธรรม และขอให้มองประโยชน์ของส่วนรวมคนส่วนใหญ่เป็นที่ตั้ง อย่ายึดติดกับค่านิยมความเชื่อส่วนตนเฉพาะกลุ่มพวก เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นพื้นฐานที่จะช่วยให้ปลูกฝังให้คนในสังคมสามารถเรียนรู้ถึงสิทธิหน้าที่อันมีความสำคัญต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่ยาวนานกว่า 81 ปีนี้ด้วย http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/politics/opinion/amorn/กรณี-อุเทนถวาย-โปรดฟังอีกครั้งหนึ่ง.html


วันพุธที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2556

กรณีความขัดแย้งจุฬา-อุเทน 1

ความขัดแย้งระหว่างจุฬา-อุเทน

ข้อมูลประวัติ
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นสถาบันอุดมศึกษาแห่งแรกของประเทศไทย ถือกำเนิดจากโรงเรียนสำหรับฝึกหัดวิชาข้าราชการฝ่ายพลเรือน โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งขึ้น ณ ตึกยาวข้างประตูพิมานชัยศรีในพระบรมมหาราชวังเมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๒ และได้รับพระบรมราชานุญาตให้เปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนมหาดเล็ก เมื่อ ๑ เมษายน พ.ศ.๒๔๔๕ ต่อมา ทั้งภาคราชการและเอกชนต้องการบุคลากรทำงานในสาขาวิชาต่างๆ กว้างขวางมากขึ้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระอนุสรณ์คำนึงถึงพระบรมราโชบายในสมเด็จพระบรมชนกาธิราชที่จะ ”ให้มีมหาวิทยาลัยขึ้นสำหรับเป็นสถาบันอุดมศึกษาของชาวสยาม" พอที่จะช่วยให้กิจการปกครองท้องที่ของกระทรวงมหาดไทยดำเนิน ไปได้ดีในระดับหนึ่งแล้วสมควรขยายการจัดการศึกษาเพื่อสนองความต้องการของ กระทรวง ทบวง กรมอื่น ๆ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สถาปนาโรงเรียนมหาดเล็กเป็นสถาบันอุดมศึกษา พระราชทานนามว่า "โรงเรียน ข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว" เมื่อ ๑ มกราคม ๒๔๕๓
        ต่อมาทรงเห็นว่าควรขยายกิจการให้กว้างขวางตามพระราชประสงค์เพื่อให้เป็นพระบรมราชานุสาวรีย์อันยิ่งใหญ่และถาวรในสมเด็จพระบรมชนกาธิราชพระองค์จึงได้ พระราชทานเงินทุนที่เหลือจากการที่ราษฎรได้เรี่ยไรเพื่อสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์พระบรมรูปทรงม้าจำนวนเก้าแสนกว่าบาทให้ใช้เพื่อสร้างอาคารเรียนและเป็นตึกบัญชาการบนที่ดินของพระคลังข้างที่จำนวน ๑,๓๐๙ ไร่ ซึ่งอยู่ที่อำเภอปทุมวัน และเงินที่เหลือจากการสร้างก็ได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้เพื่อกิจการของโรงเรียนต่อไปทั้งนี้ได้พระราชทานพระมหากรุณาธิคุณเสด็จพระราชดำเนินและทรงวางศิลาพระฤกษ์ในการสร้างอาคารดังกล่าวเมื่อ ๓ มกราคม พ.ศ.๒๔๕๘
        ต่อมาพระบาทสมเด็จพระมงกูฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีพระราชดำริที่จะขยายการศึกษาในโรงเรียนข้าราชการพลเรือนฯ ให้กว้างขวางยิ่งขึ้น คือ ไม่เฉพาะสำหรับผู้ที่จะเล่าเรียนเพื่อรับราชการเท่านั้น แต่จะรับผู้ซึ่งประสงค์จะศึกษาขั้นสูงให้เข้าเรียนได้ทั่วถึงกัน จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประดิษฐานโรงเรียนข้าราชการพลเรือนฯ ขึ้นเป็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเมื่อ ๒๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๕๙ เพื่อเป็นพระบรมราชานุสาวรีย์เฉลิมพระเกียรติแห่งสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ให้เจริญก้าวหน้ากว้างขวางแผ่ไพศาล และมิรู้เสื่อมสูญ โดยให้มหาวิทยาลัยแห่งนี้สังกัดอยู่ในกระทรวงธรรมการ (http://www.chula.ac.th/about/history/index.htm) http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2460/A/20.PDF

พระราชบัญญัติโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินอันเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ฯให้จุฬาฯ พ.ศ. 2482
 

พื้นที่มหาวิทยาลัย


แผนที่แสดงเขตพื้นที่ต่างๆของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
http://www.property.chula.ac.th/web/about/ความเป็นมาขององค์กร

พื้นที่การศึกษา
      จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แบ่งพื้นที่การศึกษาออกเป็น 6 ส่วน ซึ่งอยู่บริเวณ แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน ได้แก่
        ส่วนที่ 1 ฝั่งตะวันออกของถนนพญาไทประกอบด้วย พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว สนามรักบี้ หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ อาคารมหาวชิราวุธ ศาลาพระเกี้ยว ศูนย์หนังสือจุฬาฯ (สาขาศาลาพระเกี้ยว) หอประวัติ (ตึกจักรพงษ์) อาคารจุลจักรพงษ์ สระว่ายน้ำ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ คณะเศรษฐศาสตร์ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี วิทยาลัยประชากรศาสตร์ สถาบันภาษา สถาบันวิจัยสังคม สถาบันเอเชียศึกษา และสถาบันการขนส่ง
        ส่วนที่ 2 ฝั่งตะวันตกของถนนพญาไท ประกอบด้วย สำนักงานมหาวิทยาลัย (กลุ่มอาคารจามจุรี 1-5,8-9) บัณฑิตวิทยาลัย สนามกีฬาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศูนย์กีฬาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฟิตเนสเซ็นเตอร์ คณะนิเทศศาสตร์ คณะครุศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี สถาบันวิจัยโลหะและวัสดุ ศูนย์วิทยทรัพยากร สถานีวิทยุจุฬาฯ โรงพิมพ์จุฬาฯ ธรรมสถาน สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในพระบรมราชูปถัมภ์ หอพักนิสิตแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อาคารวิทยพัฒนา อาคารแว่นแก้ว หอพักศศนิเวศ อาคารศศปาฐศาลา ซึ่งเป็นที่ตั้งของสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์
        ส่วนที่ 3 ทิศเหนือของถนนพญาไท ติดกับสยามสแควร์ ประกอบด้วย คณะทันตแพทยศาสตร์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ โอสถศาลา และอาคารวิทยกิตติ์ ซึ่งเป็นที่ตั้งของศูนย์หนังสือจุฬาฯ (สาขาสยามสแควร์) คณะพยาบาลศาสตร์ (ชั้น 12) และคณะจิตวิทยา (ชั้น 16)
        ส่วนที่ 4 ทิศตะวันออกของถนนอังรีดูนังต์ บนพื้นที่ของสภากาชาดไทยเป็นที่ตั้งของคณะแพทยศาสตร์ และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลในสังกัดสภากาชาดไทย และวิทยาลัยพยาบาลสภากาชาดไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในสถาบันสมทบของจุฬาฯ
        ส่วนที่ 5 เป็นพื้นที่ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้รับคืนจากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (พลศึกษา) คือ พื้นที่บริเวณระหว่างห้างมาบุญครอง และสนามกีฬาแห่งชาติ ในส่วนนี้เป็นกลุ่มอาคารจุฬาพัฒน์ ซึ่งเป็นที่ตั้งของคณะวิทยาศาสตร์การกีฬา คณะสหเวชศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ คณะจิตวิทยา ศูนย์วิทยาศาตร์ฮาลาล และอาคารบรมราชชนนีศรีศตพรรษ ซึ่งเป็นที่ตั้งของศูนย์บริการวิทยาศาสตร์สุขภาพ
        ส่วนที่ 6 คือ พื้นที่ภายในโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา และโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปทุมวัน (ได้รับคืนจากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปทุมวัน) ในส่วนนี้เป็นกลุ่มอาคารจุฬาวิชช์ อันเป็นส่วนขยายของคณะศิลปกรรมศาสตร์ คณะจิตวิทยา และโครงการขยายโอกาสอุดมศึกษาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
       
พื้นที่เขตพาณิชย์
        เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวสถาปนาโรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในเวลาต่อมา) พระองค์มีพระราชประสงค์ให้ใช้ที่ดินส่วนหนึ่งเพื่อเป็นที่ปลูกสร้างสถานศึกษาและอีกส่วนหนึ่งให้ใช้จัดหาผลประโยชน์เพื่อนำมาปรับปรุงการศึกษาโดยไม่ต้องพึ่งงบประมาณแผ่นดินแต่เพียงอย่างเดียว โดยพื้นที่ของมหาวิทยาลัยในเขตปทุมวัน มีการแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ตามลักษณะการใช้พื้นที่ ได้แก่ พื้นที่เขตการศึกษา 637 ไร่ พื้นที่ส่วนราชการเช่าใช้ 131 ไร่ และพื้นที่เขตพาณิชย์ 385 ไร่ รวม 1,153 ไร่ (http://www.property.chula.ac.th/web/about/ความเป็นมาขององค์กร)

พื้นที่ต่างจังหวัด
นอกจากพื้นที่ในกรุงเทพมหานครแล้ว จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยยังมีพื้นที่การศึกษาในจังหวัดต่าง ๆ ได้แก่      

พื้นที่จังหวัดนครปฐม
        พื้นที่จังหวัดนครปฐมเกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2511 หลังจากการโอนย้ายคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ส่วนที่ตั้งอยู่บนพื้นที่ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกลับคืนมาเป็นคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยพลเอกประภาส จารุเสถียร อดีตอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ปรารภว่า "การโอนคณะสัตวแพทยศาสตร์โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้น การโอนก็ไม่มีความหมาย" ดังนั้น จึงได้โอนที่ดินของกระทรวงมหาดไทยที่ขณะนั้นว่างเปล่าอยู่ 79 ไร่ ในเขตตำบลบ่อพลับ อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม เพื่อจัดเป็นไร่ฝึกแก่นิสิตใช้ฝึกปฏิบัติวิชาสัตวบาลจนพัฒนาเป็น "ศูนย์ฝึกนิสิตคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย" และ "โรงพยาบาลปศุสัตว์" ดังนั้น มหาวิทยาลัยจึงขอใช้ชื่อว่า "ไร่ฝึกนิสิตจารุเสถียร" นอกจากจะใช้พื้นที่สำหรับสนับสนุนการเรียนการสอน การค้นคว้าวิจัย และตรวจรักษาปศุสัตว์และสัตว์เลี้ยงของประชาชนแล้ว ทางคณะสัตวแพทยศาสตร์ยังใช้ผลผลิตฟาร์มเป็นผลพลอยได้จำหน่ายเป็นสวัสดิการให้อาจารย์-บุคลากรของคณะและมหาวิทยาลัย http://www.vet.chula.ac.th/vet2007/history.html
       
พื้นที่จังหวัดน่าน
        พื้นที่จังหวัดน่านเป็นที่ตั้งของ "ศูนย์การเรียนรู้และบริการวิชาการเครือข่ายแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย" สำหรับให้บริการการศึกษาเรียนรู้สำหรับนิสิตโดยเฉพาะในหลักสูตรศิลปศาสตรบัณทิต สาขาวิชาการบริหารจัดการทรัพยากรการเกษตร ประกอบด้วย อาคารวิชชาคาม 1 อาคารวิชชาคาม 2 และกลุ่มอาคารชมพูภูค

พื้นที่จังหวัดสระบุรี
        การพัฒนาที่ดินจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่เขตอำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี เริ่มขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2532 โดยมีพื้นที่ทั้งหมดรวม 3,364 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ที่กรมป่าไม้อนุญาตให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยใช้ประโยชน์ 2,632 ไร่ และพื้นที่ที่มูลนิธินิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยให้ใช้ประโยชน์ 732 ไร่ โดยมีการแบ่งเขตพื้นที่ออกเป็น 5 เขต ได้แก่ เขตพื้นที่อนุรักษ์ธรรมชาติ เขตศูนย์วิจัยเฉพาะทาง เขตโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย-สระบุรี เขตบริการวิชาการและการศึกษา และเขตบริหารจัดการ โดยได้รับความร่วมมือจาก 6 คณะที่จะเข้าไปจัดทำโครงการในเขตพื้นที่ดังกล่าว ได้แก่ คณะเภสัชศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ คณะครุศาสตร์ และคณะวิศวกรรมศาสตร์ (http://www.prm.chula.ac.th/files/โครงการพัฒนาที่ดินสระบุรี240151_0.pdf)
        นอกจากนี้ ยังมีพื้นที่ในความดูแลของมหาวิทยาลัยแห่งอื่น เช่น พระตำหนักดาราภิรมย์ จังหวัดเชียงใหม่, พระจุฑาธุชราชฐานและพิพิธภัณฑ์ชลทัศนสถาน เกาะสีชัง จังหวัดชลบุรี


มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย

พ.ศ. 2461 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ แต่งตั้งให้ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราชัย มาดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการโรงเรียนเพาะช่าง จนกระทั่งสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2465 ตลอดระยะเวลาที่ทรงรับราชการ ได้บริหารการศึกษาศิลปหัตถกรรม ของโรงเรียนเพาะช่างให้เจริญรุ่งเรืองเป็นอันมาก ได้รับความนิยมตั้งแต่พระมหากษัตริย์ จนถึงเจ้านาย ข้าราชการ และบุคคลทั่วไป ตลอดชาวต่างประเทศ ทรงจัดตั้งแผนกช่างทอง แผนกเจียระไนเพชร พลอย แผนกทำบล็อกสกรีน โดยเฉพาะเครื่องถม ได้ขยายวิธีการไปอย่างกว้างขวางจนเป็นที่แพร่หลาย เป็นที่รู้จักมาจนถึงปัจจุบันคือ “ ถมจุฑาธุช “ ทรงจัดให้มีพิธีไหว้ครูช่างแบบอย่างโบราณขึ้นในโรงเรียนเพาะช่างเป็นครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. 2463 และทรงคิดสีประจำโรงเรียนคือ สีแดง-ดำ สีแดงหมายถึงเลือดของช่าง สีดำหมายถึงไม่ใช่ช่าง เพื่อเป็นเครื่องเตือนสติให้ช่างทั้งหลายได้มีเลือดเป็นสีแดงอยู่เสมอ อย่าให้สีแดงของช่างจางไปหรือกลายเป็นสีดำ
ทรงขยายแผนกการค้า ทรงสร้างห้องแสดงสินค้าห้องประชุมโรงเรียน จนกระทั่งนำผลกำไรจากการค้าของโรงเรียนไปสร้างโรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวายขึ้นอีกโรงเรียนหนึ่ง คือ วิทยาเขตอุเทนถวาย ปัจจุบัน นั่นเอง
วิทยาเขตอุเทนถวาย ก่อตั้งขึ้นโดยเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2477 โดยใช้ชื่อว่า โรงเรียนเพาะช่าง แผนกช่างก่อสร้าง โรงเรียนเพาะช่างก่อสร้างอุเทนถวาย หรือ "โรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวาย" ต่อมาในปี พ.ศ. 2518 จึงได้โอนมาเป็นวิทยาเขตในสังกัดวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา และได้เปลี่ยนชื่ออีกครั้งในปี พ.ศ. 2533 เป็น "สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตอุเทนถวาย"
ปัจจุบัน เป็นวิทยาเขตหนึ่งของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก เปิดสอนในสาขาวิศวกรรมศาสตร์และสถาปัตยกรรมศาสตร์ http://th.wikipedia.org/wiki/มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก_วิทยาเขตอุเทนถวาย

จุดเริ่มต้นความขัดแย้ง
อุเทนถวายได้ทำสัญญาเช่าบนที่ดินของจุฬาฯ เนื้อที่ 20 ไร่ 3 งาน 29 ตารางวา ตั้งแต่ปี
พ.ศ. 2478-2546 และจุฬาฯมีความประสงค์ขอพื้นที่คืนจากอุเทนถวายเพื่อขยายโอกาสทางการศึกษาของเยาวชนของชาติและเตรียมความพร้อมของประเทศในการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอันใกล้นี้ ตามนโยบายของรัฐบาล
ในปี พ.ศ. 2545 กระทรวงศึกษาธิการได้เคยมีความสนใจที่จะขอใช้พื้นที่บริเวณอุเทนถวายต่อจุฬาฯเพื่อจัดตั้งสำนักงานบริหารและพัฒนาอง์ความรู้ (องค์การมหาชน) โดยจะประสานงานจัดการเรื่องการย้ายอุเทนถวายไปยังสถานที่ที่เหมาะสม และเพื่อเป็นการขยายพื้นีท่ทางการศึกษาของอุเทนถวายด้วย ดังนั้น เพื่อช่วยคลี่คลายปัญหาดังกล่าว จุฬาได้ทำหนังสือถึงอธิบดีกรมธนารักษ์เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2545 เพื่อขอความอนุเคราะห์ในการจัดหาพื้นที่ให้อุเทนถวายประมาณ 30-50 ไร่ ซึ่งกรมธนารักษ์ได้เสนอพื้นที่ตำบลบางปิ้ง จังหวัดสมุทรปราการ จำนวน 36 ไร่ ให้กับอุเทนถวาย
จนกระทั่งในปี 2547 อุเทนถวายจึงมีการทำบันทึกข้อตกลง ฉบับลงวันที่ 11 มีนาคม 2547 ตกลงขนย้ายและส่งมอบพื้นที่คืนให้กับจุฬาฯ ภายในวันที่ 30 กันยายน 2548 โดยหากมีความจำเป็นก็จะผ่อนผันให้ไม่เกิน 1 ปี เท่านั้น ในปี 2548 จึงมีการทำบันทึกข้อตกลงร่วมกัน 4 ฝ่าย ได้แก่ จุฬาฯ สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา และอุเทนถวาย โดยมีสาระสำคัญในการตกลงที่อุเทนถวายจะย้ายไปก่อสร้างสถาบันใหม่ ณ ตำบลบางปลา อำเภอบางพลี จังหวดสมุทรปราการ และจะดำเนินการย้ายบุคลากรและนักศึกษาให้เสร็จสิ้นภาายในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2548 โดยเมื่อสิ้นสุดสัญญาเช่า กับอุเทนถวายแล้ว สำนักงายบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์าการมหาชน) ก็จะมาใช้พื้นที่นี้ต่อไป ทั้งนี้เพื่อสนับสนุนแผนการย้าย คณะรัฐมนตรีได้จัดสรรงบประมาณ 200 ล้านบาท ผ่านสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาเพื่อดำเนินการต่อไปอีกด้วย จุฬาฯได้มีการส่งหนังสือเพื่อให้อุเทนถวายส่งมอบพื้นที่คืนให้แก่จุฬาฯทั้งหมด 3 ครั้งคือ วันที่ 6 ธันวาคม 2549  จุฬาฯ ได้ส่งหนังสือถึงอุเทนถวายหลังจาก “คณะกรรมการเพื่อพิจารณาชี้ขาดการยุติในการดำเนินคดีแพ่งของส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง” (กยพ.) ที่สำนักงานอัยการสูงสุดแต่งตั้งขึ้นมาพิจารณาเรื่องนี้ มีมติชี้ขาดให้อุเทนถวายคืนพื้นที่ให้กับจุฬาฯ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2549 พร้อมทั้งชำระค่าเสียหายปีละประมาณ 1,000,000 บาทเศษ จนกว่าจะส่งมอบพื้นที่เป็นที่เรียบร้อย จากนั้นจึงตามมาด้วยหนังสือฉบับที่ 2 ลงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2550 และฉบับที่ 3 ลงวันที่ 10 กรกฎาคม 2550 สำหรับในส่วนค่าเสียหายอุเทนถวายยังไม่เคยชำระให้จุฬาฯเลยแม้แต่ครั้งเดียว
เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2552 กยพ. ได้มีมติชี้ขาดโดยให้อุเทนถวายขนย้ายทรัพย์สินและคืนพื้นที่ให้กับุฬาฯ และชำระค่าเสียหายปีละล้านบาทเศษจนกว่าจะส่งมอบพื้นที่เสร็จ โดยมติที่ประชุมมีข้อสังเกตว่า ในการย้ายนั้น ขอให้กระทรวงศึกษาธิการประสานงานกับกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อขอใช้ที่ราชพัสดุและงบประมาณสนับสนุนเพื่อการนี้ต่อไปด้วย
ในปี 2553 คณะรัฐมนตรีรับทราบมติดังกล่าว และอัยการสูงสุดแจ้งผลชี้ขาดของกยพ.ต่อจุฬาฯและอุเทนถวายต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว สำหรับผลการทูลเกล้าฯถวายฎีกา สำนักราชเลขาธิการได้มีหนังสือยืนยันผลการชี้ขาดตามมติของกยพ.ถึงอุเทนถวาย ฉบับลงวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2554  หลังจากนั้นจุฬาฯจึงมีหนังสือสอบถามความคืบหน้าการปฏิบัติตามติคณะรัฐมนตรีไปยังอุเทนถวายตามหนังสือฉบับลงวันที่ 31 สิงหาคม 2554 แต่จนถึงปัจจุบัน อุเทนถวายยังไม่ได้ปฏิบัติตามการชี้ขาดจากกยพ.แต่ประการใด https://fbcdn-sphotos-b-a.akamaihd.net/hphotos-ak-ash3/s720x720/35453_533428720035147_1500628836_n.jpg

‘อุเทน’ ดิ้นสู้ถวายฎีกา
ฟากอุเทนถวายชี้แจงว่า การที่นายทวีชัย เหลี่ยมศิริวัฒนา รักษาราชการแทนผู้อำนวยการอุเทนถวาย ลงนามในคำสั่งหนังสือลงวันที่ 11 มีนาคม 2547 ตกลงขนย้ายและส่งมอบพื้นที่คืนให้จุฬาฯ นั้น ถือเป็นการปิดบังซ่อนเร้นบันทึกสัญญา เนื่องจากนายทวีชัยเพิ่งเข้ามารักษาการเป็นปีแรก ไม่เคยเสนอข้อตกลงดังกล่าวให้สภาคณาจารย์ ศิษย์เก่า และศิษย์ปัจจุบันรับทราบเพื่อรับรองมติ ดังนั้นอุเทนถวายจึงรวมตัวร้องขอความเป็นธรรมกับนายทวีชัย นำมาสู่บันทึกข้อตกลงในวันที่ 21 มีนาคม 2548 สรุปใจความว่า ข้อตกลงเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2547 ไม่ถูกต้อง ไม่ชอบธรรม ขอให้นายทวีชัยทำหนังสือยกเลิกบันทึกฉบับดังกล่าว ทำหนังสือที่เกี่ยวข้องกับการขอย้าย โดยเปิดเผยทุกเรื่องก่อนการลงนาม และทำหนังสือตอบเรื่องถวายฎีกา ที่สโมสรนักศึกษาอุเทนถวาย ได้ทูลเกล้าฯถวายฎีกาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 2 ครั้ง เพื่อทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยลงมา กระทั่งวันที่ 10 มิถุนายน 2547 นายทวีชัยจึงทำหนังสือยกเลิกบันทึกที่ทำไว้กับจุฬาฯ สรุปได้ว่า อุเทนถวายไม่ยอมรับการขนย้ายและส่งมอบพื้นที่คืนให้จุฬาฯ โดยอ้างว่าเป็นการตัดสินใจจากคนเพียงคนเดียว ไม่ใช่การตัดสินใจจากอุเทนถวายทุกคน โดยพวกเขาเชื่อมั่นว่า “หากใช้ผืนดินนี้เพื่อประโยชน์ทางการศึกษา ตามพระราชประสงค์ของ รัชกาลที่ 6 ที่ทรงพระราชทานเงิน จำนวน 10,000 บาท เพื่อก่อสร้างโรงเรียนขึ้นมา อุเทนถวายก็ยังมีสิทธิ์อันชอบธรรมที่จะครอบครองที่ดินผืนนี้สืบไป”
ส่วนการพิจารณาของ กยพ.นั้น ทางอุเทนถวายชี้แจงว่า ตลอดระยะเวลาที่ กยพ.พิจารณาความเป็นเจ้าของที่ดินตามกฎหมาย อุเทนถวายไม่เคยเข้าไปมีส่วนร่วมในการไต่สวนและชี้แจงรายละเอียดเลยแม้แต่ครั้งเดียว ดังนั้นพวกเขาจึงไม่ยอมรับคำตัดสิน ขณะที่การทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาทั้ง 2 ครั้งคือวันที่ 2 มีนาคม 2547 และ 9 กรกฎาคม 2552 นั้น แม้สำนักราชเลขาธิการจะมีหนังสือที่ รล 0007.4/1935 ลงวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2554 อ้างถึงหนังสือสำนักราชเลขาธิการ ที่ รล 0009.4/22943 ลงวันที่ 25 ธันวาคม 2552 ตีเรื่องกลับโดยให้ยืนยันผลชี้ขาดตามมติของ กยพ. แต่เมื่ออุเทนถวายมองว่า การตัดสินของ กยพ.ไม่เป็นที่ยอมรับ จึงยังคงยืนกระต่ายขาเดียวปักหลักเรียกร้องสิทธิ์ต่อไป พร้อมตั้งทีมศึกษาค้นคว้าข้อมูลทางประวัติศาสตร์ มาใช้ในการต่อสู้ ซึ่งประเด็นนี้มีข้อสังเกตอยู่ตรงที่ประกาศว่า การลงนามตกลงขนย้ายและส่งมอบพื้นที่คืนให้จุฬาฯ ของ รรก.ผอ.วิทยาเขตอุเทนถวาย เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2547 คณาจารย์ บุคลากร ศิษย์เก่า และศิษย์ปัจจุบันยืนยันว่าไม่เคยรับทราบมาก่อน

จากนั้นเป็นต้นมาความเป็นไม้เบื่อไม้เมาก็คุกรุ่นขึ้นเรื่อย ๆ กระทั่งจุฬาฯ เริ่มดำเนินการตามมาสเตอร์ แพลนที่วางไว้อย่างจริงจัง เช่น การขอคืนพื้นที่ตั้งเดิมของโรงเรียนปทุมวัน เพื่อปรับปรุงเป็นสวนสาธารณะสำหรับคนกรุงเทพฯ หลังจากอ้างว่าได้หารือร่วมกับสำนักงานการศึกษา กทม.แล้ว การเตรียมขึ้นค่าเช่าสนามศุภชลาศัย การขยายพื้นที่ถนนจุฬาฯ ซอย 5 ให้กว้างขึ้น เพื่อลดปัญหาการจราจร โดยจะรวมศูนย์ราชการของ กทม.ประกอบด้วย สถานีตำรวจปทุมวัน สถานีดับเพลิงปทุมวัน สาธารณสุข กทม.ไว้ด้วยกันเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชน หรือการยื่นคำสั่งศาลขอบังคับให้อุเทนถวายออกจากที่ดินผืนดังกล่าว ภายใน 30 วัน หลังศาลมีคำสั่งให้จุฬาฯ ชนะคดี ส่งผลเกิดกระแสต่อต้านจากกลุ่มศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบันอุเทนถวายกว่า 500 คน ที่ทราบข่าว รวมตัวเดินขบวนประท้วงกรณีการทวงคืนที่ดิน หน้าสำนักงานจัดการทรัพย์สินแห่งจุฬาฯ พร้อมทั้งวางพวงหรีดประชดประเทียดเสียดสี มาตรการเชิงรุกของจุฬาฯ ไปตามถนนพญาไท เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2556 ที่สำคัญคืออุเทนถวายไม่ได้สู้อย่างโดดเดี่ยวเหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา แต่ดึงกระแสสังคมที่เริ่มโจมตีจุฬาฯ มาใช้ให้เป็นประโยชน์ ด้วยการเป็นเจ้าภาพรับเรื่องร้องเรียน และเรียกร้องขอคืนพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นสนามศุภชลาศัยที่ถูกขึ้นค่าเช่า โรงเรียนปทุมวันที่ถูกยกเลิกสัญญา ตลอดจนการบีบให้พวกเขาออกจากผืนดินที่ตั้งสถาบันภายใน 30 วัน

ศ.น.พ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ออกมายืนยันว่า การขอที่ดินคืนก็เพื่อใช้เป็นพื้นที่การศึกษา พัฒนาเป็นศูนย์นวัตกรรมงานสร้างสรรค์เพื่อชุมชนยั่งยืน ไม่มีนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์แต่อย่างใด ที่สำคัญตลอดมาจุฬาฯ ได้พยายามหาทางช่วยเหลือมาโดยตลอด กระทั่งกรมธนารักษ์ได้จัดหาพื้นที่ใหม่ให้ ขณะที่ครม.ก็จัดสรรงบประมาณ 200 ล้านบาท ให้สำหรับก่อสร้างและขนย้าย แต่เมื่ออุเทนถวายไม่ยอมย้ายไป สุดท้ายกรมธนารักษ์จึงนำที่ดินผืนดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ในด้านอื่นแทน ดังนั้นกรณีของอุเทนถวายจะต้องแก้ไขโดยขอความร่วมมือจากรัฐบาล กระทรวงศึกษาธิการและหน่วยงานต่าง ๆ จัดหาพื้นที่ที่เหมาะสม พร้อมทั้งงบประมาณให้ใหม่ ในส่วนของโรงเรียนปทุมวันนั้น จุฬาฯยืนยันว่าได้หารือร่วมกับสำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร แล้ว ซึ่งทั้งสองฝ่ายเข้าใจกันดี แต่หากประชาชนได้รับผลกระทบ จุฬาฯก็จะหารือกับทุกฝ่ายอีกครั้ง
วันที่ 4 มีนาคม อธิการบดีจุฬาฯ จึงเข้าพบ นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี และรมว.ศึกษาธิการ เพื่อหารือถึงข้อพิพาท และชี้แจงว่า ที่ดินผืนนี้ผ่านการตีความชี้ขาดให้เป็นสิทธิของจุฬาฯ จาก กยพ.แล้ว โดยอุเทนถวายต้องย้ายออกไป ดังนั้นนายพงศ์เทพจึงรับปากจะประสานไปยังผู้บริหารอุเทนถวาย เพื่อให้ดำเนินการตามมติ กยพ. ตลอดจนทำความเข้าใจกับบุคลากร ศิษย์เก่า และศิษย์ปัจจุบัน ที่จะออกมาเคลื่อนไหวประท้วง ว่าจะต้องย้ายไปสถานศึกษาใหม่ เพราะที่ดินดังกล่าวเป็นของจุฬาฯตามกฎหมาย โดยกระทรวงศึกษาธิการ จะพิจารณาพื้นที่ตั้งใหม่จากที่ดิน ซึ่งรัฐบาลเป็นเจ้าของ เช่น ที่ดินราชพัสดุ ในพื้นที่ จ.สมุทรปราการ เป็นต้น
เวลาผ่านไปจนถึงวันที่ 11 มีนาคม 2556 คณะผู้บริหารจุฬาฯ จึงตั้งโต๊ะแถลงข่าวการจัดการทรัพย์สินของจุฬาฯ อีกครั้งโดยอธิบายว่า ผลประโยชน์ส่วนใหญ่ที่ได้รับจากการบริหารจัดการทรัพย์สินที่ได้จากที่ดินพระราชทานของจุฬาฯ เป็นการดำเนินการตามแนวพระราชดำริของพระองค์ท่านผู้สถาปนาจุฬาฯ ที่ทรงเล็งเห็นว่า การที่มหาวิทยาลัยจะสามารถดำเนินพันธกิจหลักของมหาวิทยาลัยได้ จำเป็นต้องมีทรัพยากรเกื้อหนุนเพิ่มเติมจากงบประมาณแผ่นดิน เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ในเวทีโลก ซึ่งงบประมาณจากเงินรายได้ของมหาวิทยาลัย จะนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพด้านวิชาการของมหาวิทยาลัยในทุก ๆ ด้าน ทั้งนี้การขอเวนคืนที่ดินอุเทนถวาย จะต้องเป็นไปตามมาสเตอร์แพลน ที่จุฬาฯ เตรียมการไว้ หากอุเทนถวายไม่สามารถย้ายออกได้ เนื่องจากยังไม่มีพื้นที่ใหม่ จุฬาฯก็สามารถรอต่อไปได้ เพราะเหตุการณ์ทั้งหมดมีข้อยุติเชิงกฎหมายแล้ว การแถลงข่าวในวันนั้น ศ.นพ.ภิรมย์ยืนยันว่า เข้าใจและเห็นใจอุเทนถวาย จึงไม่ได้รบเร้าให้ย้ายออกไปภายในวันสองวัน ตราบใดที่ยังไม่ได้ที่ดินผืนใหม่ ดังนั้นทางออกที่ดีที่สุดคือ การจับเข่าคุยกันโดยมีกระทรวงศึกษาธิการร่วมวงด้วย เพื่อวางแผนอนาคตว่า ควรย้ายไปในช่วงเวลาไหนถึงจะเหมาะสม และถ้าตกลงได้จะเกิดผลดีทุกฝ่าย ซึ่งน่าจะเป็นทางออกที่ดี